ปีหน้าที่จะมาถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงในโลกหลายด้าน โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจ และเทคโนโลยี
เพียร์ – เยฟ เจราร์ด ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากบริษัทโป๋ เล้อ (Bo Le) บริษัทจัดหางานชั้นนำในประเทศจีน ซึ่งต้องเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่มีจำนวนบุคคลากรมหาศาลอยู่เสมอ มองว่า ปีที่ผ่านมา แรงงานโลก กำลังเริ่มเข้าสู่ยุค Hyper-Competition หลังโลกทั้งใบ เดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิตัลมากขึ้น เปิดโอกาสให้องค์กร และบริษัทต่างๆ สามารถมองหา ผู้ที่เหมาะสมที่สุดมาทำงานที่พวกเขาต้องการ โดยใช้หลัก ”เลือกคนที่ใช่ สำคัญกว่า เลือกคนที่มี” ซึ่งหมายถึง คนที่ใช่นั่นอาจมาจากอีกมุมโลกก็ได้ เกิดเป็นกระแสแห่งการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในโลกของตลาดแรงงาน
ในแง่ของโอกาส ปีที่ผ่านมาถือว่า เป็นปีทองของเหล่าแรงงานสายไอที หรือสายอุตสาหกรรม หลังจากจีนประกาศขยายภาคอุตสาหกรรม และนวัตกรรมของชาติ ส่งผลให้เกิดงานมากขึ้น ต้องการแรงงานมากขึ้น โดยแรงงานที่ได้ผลประโยชน์สูงสุดในปีนี้ คือ ไทย และเวียดนาม ที่มีจุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของอาเซียน และไม่ไกลจากจีนแผ่นดินใหญ่มากนัก
สำหรับปี 2561 ที่กำลังจะมาถึง เพียร์ คาดการณ์ว่า ประเทศไทย และเวียดนาม จะกลายเป็นทั้งประเทศส่งออกแรงงาน และประเทศผู้รองรับแรงงานจากต่างชาติ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นน้องใหม่ในภูมิภาค ที่ประกาศจะยกระดับประเทศไปสู่ยุคอุตสาหกรรม พร้อมกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจรายย่อยเกิดใหม่ ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงทักษะเฉพาะทาง เป็นโอกาสของแรงงานจากต่างชาติ ขณะที่ จีน จะเผชิญปัญหาค่าแรงสูง ทำให้จีนหันมาเล็งหาแรงงานที่มีค่าตัวน้อยกว่า ซึ่งเป้าหมายแรกคือ แรงงานจากอาเซียน เช่นกัน
เพียร์ ยังแนะนำว่า แรงงานทั่วโลก ควรเร่งพัฒนาทักษะตัวเองใน 5 ด้าน คือ1. Self – Awareness การตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง รับรู้ว่า ตนเองมีความสามารถด้านใด และรักในการทำงานรูปแบบไหน2. Emotion Intelligent ความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ที่จะมีความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น3. Presentation Skill ทักษะในการนำเสนอ เพราะไม่ว่าคุณจะทำงานในตำแหน่งใด คุณจำเป็นต้องแสดงออกให้เห็นถึงศักยภาพ และความตั้งใจในงานอย่างเหมาะสม4. Talent Management ทักษะในการบริหารคน ทั้งการเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงาน และการจัดสรรงานให้เหมาะสมกับสมาชิกในทีมและ 5. Language Skill ทักษะด้านภาษา ที่อนาคตอันใกล้ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน จะกลายเป็นเพียงแค่ภาษาพื้นฐาน ไม่ใช่ภาษาพิเศษ ดังนั้น แรงงานจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาที่ 3 ซึ่งคาดว่า น่าจะได้เพิ่มเติมจากการไปทำงานในประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ นอกจากทักษะด้านภาษา แรงงานต้องมีทักษะในการปรับตัว ใช้ชีวิตเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ๆ ของประเทศที่ตนเองทำงาน และเหนือสิ่งอื่นใด วัฒนธรรมที่ผู้เป็นนายจ้าง หวังให้พนักงานทุกคน กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวมากที่สุด คือ วัฒนธรรมองค์กร ที่แรงงานทุกคนจะมองข้ามไม่ได้เลย
นัฐพล ทองพุฒ ถ่ายภาพจินดามาตร์ สุขประเสริฐ ทีมข่าวอาเซียน TNN ช่อง 16 รายงาน