ประเด็นเกี่ยวกับซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หนีไม่พ้นเรื่องข้อครหาเรื่องความตรงไปตรงมาในการควบคุมดูแลการแข่งจากที่มี ดราม่าใหญ่น้อยเกิดขึ้นให้ตั้งข้อสงสัยกัน ซึ่งเรื่องราวหลายอย่างไม่ได้เกิดกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น
กรณีที่เป็นปมร้อนมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มซีเกมส์ครั้งนี้คือ การวอล์กเอาต์ของทีมเซปักตะกร้อ ทีมเดี่ยวหญิงของอินโดนีเซีย ในเกมพบกับเจ้าภาพมาเลเซีย รายงานข่าวเผยว่า ชนวนเกิดจากจังหวะตัดสินลูกเสิร์ฟของอินโดนีเซียในเซตที่ 2 ขณะที่ทีมอิเหนาแต้มตามหลัง 10-16 และเสียเซตแรกไปก่อนแล้วด้วยสกอร์ 20-22 เมื่อกรรมการตัดสินให้ลูกเสิร์ฟของอินโดนีเซียเป็นลูกฟาวล์แบบน่ากังขา โค้ชของทีมอินโดนีเซียรีบเดินเข้าไปประท้วงการตัดสินในสนาม
เมื่อเห็นว่าการประท้วงไม่เป็นผล โค้ชของอินโดนีเซียจึงสั่งให้ลูกทีมเดินออกจากสนาม แม้กรรมการผู้ควบคุมการแข่งพยายามเรียกร้องให้กลับมาในสนามหลายครั้ง แต่สุดท้ายทีมอินโดนีเซียเดินออกจากสนามไปทำให้ถูกปรับแพ้ไป 0-2 เซต
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำข้อกังขาต่อการควบคุมดูแลการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมาของเจ้าภาพ โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์วอล์กเอาต์เกิดขึ้น หลังปัญหาที่มาเลเซียตีพิมพ์ภาพธงชาติอินโดนีเซียในเอกสารแจกก่อนพิธีเปิดใน สภาพเป็นธงกลับหัวจนถูกชาวอินโดนีเซียวิจารณ์อย่างหนัก
ตามกฎเซปัก ตะกร้อ เท้าหลักของผู้เสิร์ฟต้องอยู่ในวงกลมเสิร์ฟ ห้ามแตะเส้นทั้งก่อนและระหว่างเสิร์ฟลูก และต้องไม่กระโดดเสิร์ฟ เมื่อย้อนดูภาพวิดีโอที่บันทึกจังหวะเสิร์ฟซึ่งเป็นปัญหานี้ ภาพแสดงให้เห็นว่าขาของผู้เสิร์ฟยังอยู่ในวงกลมกลางสนาม ไม่ได้สัมผัสวงกลม และไม่มีลักษณะที่ทำให้เห็นว่ากระโดดเสิร์ฟเช่นกัน
การตัดสินของกรรมการเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอีกจังหวะหนึ่งที่ฝ่ายมาเลเซียเป็น ผู้เสิร์ฟและสัมผัสเส้น กรรมการกลับไม่ได้ตัดสินให้เป็นลูกฟาวล์ เมื่อรวมบริบทเข้าด้วยกันยิ่งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม
เป็นเรื่องธรรมชาติที่กรรมการมีโอกาสตัดสินผิดพลาดได้เสมอ เมื่อเกิดความผิดพลาด ระบบกีฬาส่วนมากมีช่องทางให้ยื่นเรื่องคัดค้านตามกระบวนการได้ ทั้งระหว่างหรือหลังแข่ง แม้การยื่นประท้วงสำเร็จอาจไม่สามารถพลิกเกมกลับมาได้ทันเวลา หรือบางชนิดกีฬา การประท้วงคำตัดสินระหว่างแข่งไม่สามารถพลิกคำตัดสินใด ๆ ก็ตาม การวอล์กเอาต์เป็นทางเลือกแทบจะท้ายสุดสำหรับผู้แข่งขัน เพราะบางทัวร์นาเมนต์มีกำหนดบทลงโทษสำหรับฝ่ายที่ออกจากการแข่งกลางคันหรือ ไม่สามารถแข่งขันต่อได้กลางเกม
ขณะเดียวกัน ระบบการตัดสินของผู้ตัดสินในกีฬาระดับนานาชาติก็ควรพัฒนาทั้งระบบ คือบุคลากรและเทคโนโลยีให้ทันสถานการณ์เพื่อลดโอกาสความผิดพลาดที่เกิดจากคน ซึ่งบทเรียนมากมายแสดงให้เห็นแล้วว่าความผิดพลาดเล็ก ๆ กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้แค่ไหน ความล้มเหลวที่ไม่สามารถติดตั้งระบบวิดีโอแชลเลนจ์ในกีฬาต่าง ๆ นำมาสู่เรื่องราวเหล่านี้จนได้
ระบบการตัดสินที่มีปัญหาก็ยังไม่พ้นขอบเขต มวยสากลสมัครเล่น ซึ่งมีไฟต์รุ่นไลต์ฟลายเวต ระหว่างนักมวยฟิลิปปินส์ กับเจ้าภาพที่ออกมาค้านสายตาผู้ชม โดยเป็นฝ่ายเจ้าภาพชนะด้วยผลท่วมท้น ทั้งที่รูปเกมก็ไม่ได้เหนือกว่า แถมยังถูกกรรมการเตือน หรือกรณีที่ทำให้กองเชียร์ไทยวิจารณ์พอสมควรในเกมบาสเกตบอลชายที่พบกับเจ้า ภาพ ซึ่งการตัดสินของกรรมการมีหลายจังหวะที่ค้านสายตาแฟนจากมุมมองฝ่ายที่เชียร์ทีมชาติไทย
หรืออีกเหตุการณ์ที่ยังทำให้แฟนกีฬาอดใจตั้งคำถามไม่ได้ เมื่อมาเลเซียมอบเหรียญรางวัลแข่งยิมนาสติกอุปกรณ์ม้าหูชายให้ 2 นักกีฬาของตัวเองครองเหรียญทองร่วม ด้วยสกอร์ 13.650 เท่ากัน ซึ่งหนุ่มวัย 21 ปีที่ได้เหรียญทองร่วมรายหนึ่งเพิ่งลงแข่งซีเกมส์
ครั้งแรกและยอมรับว่าไม่ฝันว่าจะได้ขึ้นแท่นรับเหรียญร่วมกับนักกีฬามากประสบการณ์ หรือกรณีปริศนา เหรียญทองจักรยานไทม์ไทรอัล ที่ทีมไทยรับเหรียญเงิน แม้จะเอาชนะเวียดนาม คู่ปรับตลอดกาลของที,สองล้อไปเวลารวมเฉือนไป 6 วินาที แต่แพ้เจ้าภาพ 18 วินาที พลาดเหรียญทองแบบน่ากังขา แต่ต้องยอมรับผลการตัดสินขึ้นโพเดียมไปพร้อมคำถามในใจ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ระหว่างการแข่งตะกร้อครั้งนี้คือรอยแผลใหญ่ที่สุดของเจ้าภาพ มาเลเซีย จุดนี้จะถูกยกเป็นตัวอย่างสำหรับวิจารณ์ความตรงไปตรงมาของเจ้าภาพอย่าง แน่นอน มาเลเซีย
ถูกโจมตีตั้งแต่ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ แม้จะเป็นธรรมเนียมสำหรับเจ้าภาพในการเลือกกำหนดชนิดกีฬาที่แข่งขันนอกเหนือ จากกีฬาหลักได้ แต่มีบางชนิดกีฬาที่มาเลเซียตัดออกแบบประหลาด เช่น ยกน้ำหนักหญิงซึ่งตัดจอมพลังหญิงที่โดดเด่นในโอลิมปิกเกมส์หายไปหลายคนรวมถึงไทยด้วย
สิ่งที่มาเลเซียทำเป็นกลยุทธ์ที่คุ้นกันดี หลายครั้งที่เจ้าภาพ ปรับแต่งลิสต์ชนิดกีฬาที่แข่งขันแต่ละครั้ง อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, เมียนมา จนถึงสิงค์โปร์ เมื่อปี 2015 ก็มีปรับแต่งชนิดกีฬา แต่การปรับแต่งชนิดกีฬาก่อนหน้ามหกรรมระดับนานาชาติ กรณีโอลิมปิก กระบวนการปรับเพิ่มหรือลดกีฬาแต่ละครั้งจะทำล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี ก่อนจะมีผลใช้ ไม่ใช่แค่เรื่องปรับก่อนแข่งแค่ปีเดียว
ส่วนปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดระหว่างการแข่งขันซึ่งกลายเป็นข่าวหลายครั้ง บางส่วนเป็นปัญหาจากระบบบริหารจัดการของเจ้าภาพ อาทิ การอำนวยความสะดวกให้นักกีฬา หรือการจัดตารางแข่ง จนถึงการเลือกถ่ายทอดสดชนิดกีฬาที่ไม่ค่อยถูกใจคนส่วนใหญ่นัก แต่ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการบางอย่างทำให้เกิดคำถามว่า ที่มาของปัญหามาจากความผิดพลาดจริง ๆ หรือเป็นความจงใจหรือไม่
คำตอบของคำถามนี้อาจไม่สามารถเจาะจงอย่างแน่ชัดได้จากภายนอกเพียงอย่างเดียว
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าจะเห็นได้ชัดคือ โปรแกรมการแข่งฟุตบอลหญิงนัดสุดท้าย ซึ่งระบบแข่งฟุตบอลหญิงแข่งแบบพบกันหมด
ทีมที่ได้แต้มมากที่สุดได้เหรียญทอง โดยตามหลักสากลแล้วนัดสุดท้ายจะต้องแข่งพร้อมกันเพื่อไม่ให้มีใครได้เปรียบเมื่อรู้สกอร์คู่ก่อนหน้า แต่โปรแกรมนัดสุดท้ายที่จะชี้ชะตาเหรียญทอง ทีมไทยจะลงแข่งเป็นคู่แรก ขณะที่เวียดนามที่มีแต้มเท่ากับไทยจะแข่งทีหลัง เท่ากับว่าเวียดนามจะรู้สกอร์และสามารถกำหนดแผนการเล่นได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา มหกรรมกีฬาอาเซียนมักถูกหยิบไปเชื่อมโยงกับบริบทอื่น ๆ ในภูมิภาค หรือแม้แต่ในพื้นที่ของเจ้าภาพ สำหรับครั้งนี้ มาเลเซียหวังให้การแข่งขันช่วยยกระดับภาพลักษณ์ สร้างบรรยากาศที่ดีภายในประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นเป็นเจ้าเหรียญทองในช่วงฉลองวันชาติปลายเดือนสิงหาคม น่าจะมีผลต่อการปูทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่มีบรรยากาศเป็นใจแบบราบรื่น
ถ้ามองย้อนกลับไป ประเทศที่มีสถานการณ์มั่นคงภายในอย่างบรูไนหรือไทยช่วงหลายปีก่อน เมื่อจัดซีเกมส์ ประเทศที่มั่นคงหรือมีศักยภาพเพียงพอไม่จำเป็นต้องใช้กีฬานอกเหนือลิสต์ชนิด กีฬาสากลที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลมาบรรจุเพื่อยกตัวเอง ขึ้นไปสู่ตารางอันดับเหรียญ
ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมาไม่กี่ปี นักกีฬาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย เริ่มผลิตนักกีฬาที่สามารถลงชิงชัยในกีฬานานาชาติได้ นักกีฬาจากประเทศเพื่อนบ้านที่เคยมองว่าเป็นรองกว่าชาติผู้นำอาเซียนกลับยก ระดับเป็นตัวแทนอาเซียนไปดวลกับนักกีฬาระดับทวีปเอเชียได้ในบางชนิดกีฬาด้วย ซ้ำ
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ถ้านักกีฬาของประเทศเหล่านี้สามารถผงาดในระดับทวีปได้ เชื่อว่าการแข่งขันระดับภูมิภาคก็น่าจะมีพื้นที่ให้พวกเขามาแข่งขันกัน มากกว่าให้ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นคนกลุ่มน้อยมาใช้อีเวนต์กีฬาเป็นเครื่อง มือสำหรับจุดมุ่งหมายอื่น ๆ
โดยเฉพาะจุดมุ่งหมายแนวชาตินิยมที่ดูไม่สอดคล้องกับบริบทตามเป้าหมายการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเท่าไหร่
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ