อย. ลุยปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ร่วมมือกับตำรวจ บก.ปคบ. และ สสจ.นครราชสีมา บุกจับแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางรายใหญ่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมายหลายรายการขายทางออนไลน์ โฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงซื้อ ยึดของกลางมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เตือนผู้ผลิตอย่าได้กระทำผิดกฎหมาย รวมถึงผู้จัดจำหน่าย และพรีเซ็นเตอร์ หากตรวจพบจะดำเนินคดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก เรื่องการขายผลิตภัณฑ์โฆษณาอาหารเสริม และ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ในประเด็นเกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค เช่น ทำให้ผิวขาวใส บำรุงผิวพรรณ ชะลอไม่ให้ผิวหนังแก่ก่อนวัย ต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีอยู่ในเซลล์ รับแสงที่จอประสาทตา อีกทั้งมีผู้ร้องเรียนจำนวนหลายรายแจ้งว่ารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางรายการแล้วเกิดอาการ มือสั่น ใจสั่น คอแห้ง นอนไม่หลับ นั้น อย.ร่วมกับ สสจ.นครราชสีมา และตำรวจ บก.ปคบ. กระจายกำลังไปตรวจสอบสถานที่หลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมา ผลจากการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 จำนวนมาก ซึ่งเข้าข่ายว่า มีการแสดงข้อความโฆษณาเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค โดยโฆษณาว่า เครื่องดื่มหุ่นสวย ช่วยลดเหงื่อ กลิ่นตัว ลดตุ่ม ผิวหนังไก่ พร้อมช่วยชะลอการเกิดขน เป็นต้น
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ สามารถยึดของกลางจำนวน 2 โกดัง มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท พร้อมกับเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ยึดอายัดบางส่วน เช่น 1. Linda Drink (สำเร็จรูป) 3,258 กล่อง, 2. Linda Drink (ซอง) 52,000 ซอง, 3. Chlorophyll Detox Fiber (สำเร็จรูป) 20,160 กล่อง, 4. Apple Slim (ซอง) 137,500 ซอง, 5.Shi-No-Bi (สำเร็จรูป) 45 กล่อง, 6. ซองบรรจุภัณฑ์ Shi-No-Bi 33 ห่อ, 7.แคปซูลสีชมพู มีตัวอักษร ® FERN Vitamin 680,000 แคปซูล, 8. Treechada (Underaem Serum) 1,368 กล่อง, 9. เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต 10 เครื่อง
เบื้องต้นพบการกระทำความผิด ดังนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 1. ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ฝ่าฝืนประกาศฯ ตามมาตรา 6 (10) มีโทษตามมาตรา 51 ปรับไม่เกิน 30,000 บาท 2. ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมาตรา 14 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 53 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมตามมาตรา 27 (4) กรณีแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในลักษณะพิเศษว่าได้รับเลขสารบบอาหาร ณ สถานที่ผลิตแห่งนี้แล้ว ฝ่าฝืนมาตรา 25 (2) มีโทษตามมาตรา 59 จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 100,000 บาท 4. โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 1. ฝ่าฝืนมาตรา 22 วรรคสอง (1) แสดงฉลากที่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ผู้ผลิตจะมีโทษตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ฝ่าฝืนมาตรา 22 วรรคสอง (3) ฉลากไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ผลิตจะมีโทษตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อาจมีข้อกล่าวหาอื่นซึ่งอาจจะมีโทษเพิ่มมากขึ้น เช่น หากตรวจพบยาแผนปัจจุบัน จะถือว่า เป็นการจําหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ภก.สมชาย กล่าวว่า อย. ขอย้ำเตือนผู้ประกอบการอย่าได้ลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางโดยผิดกฎหมาย พร้อมปรามผู้จัดจำหน่ายทั้ง รายใหญ่และ รายย่อย รวมถึงพรีเซ็นเตอร์ หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนของผู้บริโภคขอให้ใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารและเครื่องสำอาง โดยวัตถุประสงค์ของอาหาร คือ ของกินหรือเครื่องค้ำจุนชีวิต ส่วนเครื่องสำอาง คือ ใช้เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณ ที่อวดอ้างเกินความจริงทางสื่อต่าง ๆ เช่น ผอมภายใน 7 วัน, หยุดกินแล้วไม่โยโย่, ขาวใสภายใน 7 วัน, รักษาโรคต่าง ๆ เป็นต้น โดยเฉพาะทางสื่อโซเชียลมีเดีย นอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง หากผู้บริโภคพบเห็นการผลิต จำหน่าย หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556, อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th, รองเรียน ผาน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์ ศรป. อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ หรือ สายดวน บก.ปคบ 1135 เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำความผิด อย่างเข้มงวดต่อไป
ข้อมูลข่าวจาก: