ประเพณีสรงน้ำ “กู่” เทวสถานสมัยขอม เป็นประเพณีที่พี่น้องชาวอีสาน ที่มีกู่สมัยขอมตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน ร่วมจัดงานประเพณี สรงน้ำกู่ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 สืบต่อกันมาทุกปี ตราบจนปัจจุบัน ดังเช่น เมื่อวันที่ 18-19 เม.ย.2562
องค์การบริหารส่วนตำบลเขวา ร่วมกับประชาชนในเขต ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม รวม 24 หมู่บ้าน ร่วมจัดงานนมัสการสรงน้ำกู่มหาธาตุ เนื่องจากมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าหากได้มาสักการบูชาสถานที่แห่งนี้จะได้อานิสงส์ และสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะกู่ที่ปรากฏหลักฐานเชื่อว่าเคยเป็นอโรคยาศาล หรือเคยเป็นสถานพยาบาลในสมัยโบราณมาก่อน อาทิ กู่มหาธาตุ ตั้งอยู่ ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม และกู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม เป็นต้น
สำหรับ กู่มหาธาตุ หรือปรางค์กู่บ้านเขวา เป็นอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาลโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรเขมร ที่โปรดให้สร้างอโรคยาศาลขึ้นจำนวน 102 แห่ง ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อเป็นสถานที่รักษาพยาบาลให้กับประชาชน นอกจากสร้างสถานพยาบาล ยังสร้างศาสนสถานประจำสถานพยาบาลไว้คู่กันด้วยทุกแห่ง
ภายในประดิษฐาน “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพระพุทธเจ้า” เป็นพระพุทธเจ้าตามคติของมหายาน พระนามของท่านหมายถึงพระตถาคตเจ้าผู้เป็นบรมครูทางการแพทย์
ที่กู่มหาธาตุแห่งนี้ พบรูปเคารพ “พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภาตถาคตพระพุทธเจ้า” เช่นกัน เป็นหลักฐานยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้ เคยเป็นอโรคยาศาลมาก่อน