วันที่ 14 ก.ย.พรรคภูมิใจไทย จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นกฎหมาย “แก้หนี้ กยศ.ปลดทุกข์เด็กไทย” โดยมีทั้งทีมงานของพรรค, ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), ผู้กู้ กยศ. และผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ำประกัน เข้าร่วม
ดร.กมล รอดคล้าย ประธานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ได้รับฟังความเห็นจากนักเรียน นักศึกษา ประชาชน พบว่า ลูกหนี้ต้องการให้ลดดอกเบี้ย ลดหนี้ลง โดยปลดระยะเวลาการชำระให้ยาวนานขึ้น หรือกรณีมีเบี้ยปรับให้มีน้อยที่สุดหรือปลอดเบี้ยปรับ รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน เพราะผู้กู้สามารถค้ำประกันตนเองได้ ซึ่งพรรคจะนำเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ… ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้ จะนำความคิดเห็นในที่ประชุมแห่งนี้ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา
ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา กล่าวว่า สภาพปัจจุบันผู้ร่วมกู้กยศ.ประมาณ 5.6 ล้านคน เริ่มชำระหนี้แล้วประมาณ 3 ล้านคน ถูกดำเนินคดีไปไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมา กยศ.จะให้เวลาสำหรับการพักชำระหนี้ ต้องเข้าใจว่า ผู้ที่กู้ยืม กยศ.ก็เพราะสาเหตุความยากจน และสภาพแวดล้อมของผู้กู้เหล่านี้ ไม่ได้มีหนี้เฉพาะหนี้ กยศ.เท่านั้น นอกจากนี้หลังจบการศึกษาแล้วก็อาจจะไม่ได้งานทำ ตกงาน หรือรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาทุกข์ของเด็ก โดยเฉพาะผู้ที่ถูกบังคับคดี ควรหาแนวทางการแก้ปัญหาส่วนนี้โดยเร็ว
“พรรคมีนโยบายในการแก้ปัญหาโดยต้องการปลดผู้ค้ำประกัน ปรับโครงสร้างหนี้ การทำงานชดเชยให้กับภาครัฐเพื่อปลดหนี้ และ การขยายเวลาผ่อนผันเงินต้น”
ดร.สฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคเสนอ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อต้องการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและชัดเจน โดยเสนอ
– ให้ยกเลิกการให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินกู้ยืม
– การให้ผู้กู้ยืมเงิน เลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมได้ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการกำหนด
– ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาปลอดดอกเบี้ย และให้มีผลไปถึงผู้มีเงินค้างชำระอยู่ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น
– ให้ผู้ที่จบการศึกษา เกียรตินิยมอันดับ 1 ในระดับอุดมศึกษา ได้รับการแปลงหนี้เงินกู้ยืมเป็นทุนการศึกษา โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ยืม
– ให้ผู้ที่จบการศึกษา ระดับอุดมศึกษา จากคณะหรือสาขาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ได้รับการแปลงหนี้เงินกู้ยืมส่วนที่ค้างชำระเป็นทุนการศึกษา
– หากต้องคำพิพากษาก่อนกฎหมายนี้บังคับใช้ เมื่อได้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับกองทุนแล้วถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในข้อมูลเครดิตบูโร
ด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ กยศ. ภาพรวมของกยศ. มีผู้กู้ยืมเงินจากกองทุน 5.6 ล้านราย วงเงินกู้ยืม 6 แสนล้านบาท เป็นหนี้เสีย 7.9 หมื่นล้าน นักเรียนแต่ละคนจะมีหนี้เงินกู้เฉลี่ย 1 แสนบาท ให้เวลาผ่อนชำระ 15 ปี ยอดเงินที่ต้องชำระหนี้ เดือนละ 1,500 บาทและขยับเป็น 3,000 บาท ตกวันละเพียง 5-10 บาท ถ้าทำเช่นนี้ 15 ปี ก็ชำระหนี้ได้ 1 แสน และเหลือเงินออม 3,000 กว่าบาท แต่มีผู้ผิดนัดชำระหนี้ 3 สาเหตุ คือ ยากจน ขาดแคลน กลุ่มที่ 2 มีหนี้อื่น เลือกชำระหนี้อื่นก่อนและเลือกชำระหนี้กยศ.สุดท้าย และ กลุ่ม 3 มีเงิน แต่ไม่จ่าย กยศ.ติดตามหนี้อย่างอะลุ่มอล่วย ฟ้องคดีด้วยความจำเป็น เดินสายไปทั่วประเทศ เพื่อไปรับฟังความเห็นของลูกหนี้ ถ้าใครถูกฟ้องไปที่ศาล เราลดเบี้ยปรับลง และขยายระยะเวลาชำระหนี้อีก
ขณะที่นางปทิตตา วิปัสสา ผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ำประกัน กล่าวว่า ตนเองเดือดร้อนมาก ผู้กู้มีงานทำแต่หน่วยงาน กยศ. บังคับคดียึดทรัพย์คนค้ำประกัน ยอดเงินทั้งหมดที่ต้องส่ง 2.6 แสนกว่าบาท เงินต้น 1.1 แสนบาท ดอกเบี้ย 1.8 แสนบาท ต้องชำระ 3 ปี เดือนละ 7,365 บาท ขณะนี้ตกงานอยู่ อยากให้กองทุนช่วยเหลือเพราะเราไม่มีเงิน บ้านก็จะถูกยึดและต้องดูแลแม่ที่วัยชรา
ข่าวจาก: