จ.มหาสารคาม ทีมขับเคลื่อนฯระดับตำบล ลงพื้นที่ Kick of โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ชาวบ้านพร้อมหน้าเสนอปัญหา ความทุกข์ยาก และความต้องการพัฒนา
(21ก.พ.61)วันแรกเริ่ม Kick of พร้อมกันตำบลละ 1 หมู่บ้าน ตามแผนปฏิบัติงาน Road Map การพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่บ้านโสกยาง หมู่ที่ 15 ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ชาวบ้านจากทุกครัวเรือนเดินทางเข้ามาร่วมเวที ครั้งที่ 1 ภายในวัดบ้านโสกยาง โดยมี นายวันชัย ศรีวงษ์ญาติดี นายอำเภอวาปีปทุม ในฐานะประธานคณะกรรมการฯระดับอำเภอ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และทีมขับเคลื่อนโครงการฯระดับตำบล ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานความมั่นคง ปราชญ์ชาวบ้าน และจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” ร่วมดำเนินกิจกรรมของเวทีครั้งที่ 1 ด้วยการสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ วิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อน ค้นหาความต้องการการประชาชน/หมู่บ้าน เพื่อจัดทำโครงการเสนอตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่
นายวันชัย ศรีวงษ์ญาติดี นายอำเภอวาปีปทุม บอกถึงบรรยากาศกิจกรรมในวันแรกว่า มีชาวบ้านให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมครบทุกครัวเรือนอย่างน้อยครัวเรือนละ 1 คน และเนื่องจากมีชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก จึงต้องมีการปรับแผนจากเดิมทำประชาคมในลักษณะกลุ่มใหญ่ ก็ต้องแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เพื่อให้ได้ประเด็นปัญหาความทุกข์ยากจริงๆที่อยู่ในใจของชาวบ้าน ที่ต้องการให้รัฐบาล ส่วนราชการต่างๆเข้าไปช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุน หรือให้มีรายได้สูงขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยมีคณะกรรมการฯระดับจังหวัดมาร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งจะช่วยตอบข้อหารือหรือข้อทุกข์ใจของชาวบ้านได้ทันที และมีทีมดำเนินการกับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาให้บริการโดยเฉพาะ เพื่อรับฟังข้อมูลปัญหาและความต้องการอย่างละเอียดเป็นรายบุคคล
สำหรับเวทีปรับทุกข์ในครั้งแรกนี้ ปรากฏว่ามีการนำเสนอที่หลากหลายทั้งปัญหาส่วนตัวและปัญหาในภาพรวมของชุมชน เช่น เรื่องปัญหาถนนการสัญจรไม่สะดวก และแหล่งน้ำ โดยบ้านโสกยางนี้ถือเป็นจุดนำร่องของอำเภอวาปีปทุม ที่จะเป็นตัวอย่างให้กับตำบลอื่นๆ จึงต้องมีการชี้แจงขั้นตอนกันอย่างละเอียด ตั้งแต่การรับฟังข้อมูล การรวบรวมส่งต่อข้อมูล ซึ่งปัญหาการดำเนินงานในบ้านโสกยางจะถูกนำไปปรับแผนให้กับทีมตำบลชุดอื่นๆ เพื่อให้ได้ปัญหาและความต้องการจริงๆตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ จากการสังเกตและรับฟังชาวบ้านหลายราย ได้เสนอปัญหาและความต้องการหลากหลาย เช่น ปัญหาเรื่องรายได้ เรื่องหนี้สิน เรื่องเส้นทางสัญจร ปัญหาราคาข้าวและผลผลิตการเกษตรตกต่ำ เรื่องคุณภาพน้ำประปา ไฟส่องสว่างเส้นทางในหมู่บ้าน ไฟส่องสว่างเส้นทางไปที่นา น้ำท่วมที่นาและระบายได้ช้า โดยผู้สูงอายุหลายรายได้เสนอเรื่องการได้รับการดูแลเรื่องพื้นฐานด้านสุขภาพอาการเจ็บป่วยต่างๆ และการขอเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เพราะไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน
สำหรับการดำเนินตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ได้กำหนดแผนการจัดเวที 4 ครั้ง ในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยจะนำประเด็นหรือกรอบดำเนินการ 9 ประเด็น ไปแบ่งดำเนินการในแต่ละเวที โดยครั้งที่1 วันที่ 21 ก.พ. – 20 มี.ค.2561 เป็นเวทีปรับทุกข์ ผูกมิตร ภาพรวมคือค้นหาความต้องการของประชาชน รวมถึงดูแลผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ลงทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐ ครั้งที่2 วันที่ 21มี.ค. – 10 เม.ย.2561 เวทีสร้างความตื่นรู้ในสิทธิ หน้าที่ และการอยู่ร่วมกันแบบปรองดอง ตามหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ครั้งที่3 วันที่ 11 – 30 เม.ย.2561 เวทีปรับเปลี่ยนความคิด ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบติ และครั้งที่4 วันที่ 1 – 20 พ.ค.2561 เป็นเวทีสร้างการรับรู้ เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และร่วมแก้ปัญหายาเสพติดครบวงจร
ส่วนประเด็นหรือกรอบดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 10 ประเด็น ได้แก่ 1.สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2.คนไทยไม่ทิ้งกัน 3.ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4.วิถีไทยวิถีพอเพียง 5.รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6.รู้กลไกการบริหารราชการ 7.รู้รักประชาธิปไตย ไทยนิยม 8.รู้เท่าทันเทคโนโลยี 9.ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดครบวงจร และ 10.งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ส่วนราชการต่างๆเป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่
ข้อมูลจาก: ส.ปชส.มหาสารคาม…ชัยชนะ แดงทองคำ/ข่าว อรรถกร/ภาพ