สหกรณ์การเกษตรในจังหวัดมหาสารคาม รับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิเกี่ยวสดจากชาวนา ราคาขั้นต่ำตันละ 10,000 – 10,800 บาท หลังได้รับเงินกู้จาก ธ.ก.ส.เกือบ 400 ล้านบาท วอนเกษตรกรร่วมมือกันสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ไม่สนับสนุนการลักลอบนำคุณภาพต่ำนอกพื้นที่มาจำหน่าย
(16พ.ย.60)ที่จุดรับซื้อข้าวเปลือกของสหกรณ์การเกษตรบรบือ จำกัด สาขาดอนงัว อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม นายกำธร โป๊ะลำพงษ์ สหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรบรบือ ร่วมตรวจเยี่ยมจุดการดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกสหกรณ์ฯและเกษตรกรทั่วไป ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 มีเกษตรกรทยอยนำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิเกี่ยวสด ตันละ 10,800 บาท ส่วนข้าวเหนียวเกี่ยวสด ตันละ 6,000 บาท ตามโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต2560/61 ด้านการตลาด ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560
สหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรบรบือ ถือเป็นสหกรณที่มีศักยภาพสูง มีโรงสีที่ทันสมัยสามารถสีข้าวเปลือกได้คุณภาพวันละประมาณ 1,000 ตัน โดยสหกรณ์การเกษตรบรบือ เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกร 10 แห่งในจังหวัดมหาสารคาม ที่ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มฯ โดยทั้ง 10 แห่ง ขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) รวม 395 ล้านบาท และสหกรณ์การเกษตรบรบือได้รับวงเงินสินเชื่อมากที่สุด จำนวน 70 ล้านบาท โดยวงเงินที่สถาบันเกษตร 10 แห่งได้รับ จะนำไปใช้ในการรวบรวมข้าวจากเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม ตามเป้าหมายรวบรวมข้าวเปลือกจำนวน 68,500 ตัน โดยขอให้พี่น้องเกษตรมั่นใจได้ว่า หากนำข้าวเปลือกหอมมะลิเกี่ยวสดมาขายให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ แม้ว่าจะมีความชื้นสูงก็ตาม ก็จะได้ราคาขั้นต่ำตันละประมาณ 10,000-10,800 บาทแน่นอน
ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อดังกล่าวในภาพรวมถือว่าได้ขอสนับสนุนน้อยกว่าปี่ที่ผ่านๆมา เช่นในปีการผลิต 57/58 ขอสินเชื่อรวม 555 ล้านบาท ปี58/59 409 ล้านบาท เนื่องจากปีการผลิต 60/61 สหกรณ์แต่ละแห่งมีศักยภาพสามารถใช้เงินทุนของตนเองได้มากขึ้น โดยการลดปริมาณเงินกู้ลงจะช่วยให้การขับเคลื่อนโครงการนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับข้าวเปลือกที่รับซื้อมาจากเกษตรกร ทางสหกรณ์ก็ได้เตรียมการบริหารจัดการไว้แล้วอย่างครบวงจร โดยจะมีโรงสีในเครือข่ายเข้ามารับซื้อต่อเพื่อระบายข้าวออกไปทันที และบางส่วนทางสหกรณ์ก็จะเก็บไว้แปรรูปในภายหลังเพื่อเพิ่มมูลค่า
อย่างไรก็ตามอยากฝากไปถึงเกษตรกรทุกคน ให้ร่วมมือกันสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตขายข้าวนาปีให้ได้ราคาดี โดยช่วยกันสอดส่องดูแลและไม่สนับสนุนการลักลอบนำข้าวจากที่อื่นมา หรือนำข้าวเปลือกที่ไม่ใช่ข้าวนาปีที่มีคุณภาพดีในท้องทุ่งจังหวัดมหาสารคามมาขาย หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจะทำให้การรวบรวมข้าวในโครงการนี้ไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรก็จะเสียเปรียบ รวมถึงคู่ค้าของสหกรณ์ก็จะเสียโอกาสที่ดีในการช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม
ที่มา: ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว