จ.มหาสารคาม ชวนเที่ยวงานลอยกระทง “ล่องหุ่นเฮือไฟไทญ้อ” ที่บริเวณวัดสว่างวารี ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม นายวิทยา มากปาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยฯ จ.ขอนแก่น นางอัจรินทร์ เมืองจันทร์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคาม ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และพระสารคามมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม เจ้าอาวาสวัดสว่างวารี พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวเชิญชวนชาวมหาสารคาม และนักท่องเที่ยวร่วมงาน “ล่องหุ่นเฮือไฟไทญ้อ” ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน เพื่อบำรุงรักษาศิลปะประเพณี ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น กำหนดจัดงานวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ณ วัดสว่างวารี ช่วงกลางวันมีขบวนแห่เรือไฟ ส่วนช่วงเย็น เวลา 18.00น. มีกิจกรรมการแสดง แสง สี เสียงละครสั้นชุด “ไทญ้อก่อฮีตฮอยลอยกระทง” , แสง สี เสียงชุด”ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นกลิ่นไอไทญ้อ” กิจกรรมการลอยกระทงกาบกล้วยใบตองสาย ล่องหุ่นเฮือไฟไทญ้อ นำความทุกโศกโรคภัยไหลไปกับสายน้ำ พร้อมสัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทญ้ออย่างใกล้ชิด
สำหรับบรรยากาศภายในงานแถลงข่าว มีชาวบ้านเชื้อสายชาวไทญ้อ ที่อยู่กันเป็นชุมชนใหญ่ในบ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง มาร่วมสาธิตการทำกระทงกาบกล้วยใบตองสาย ซึ่งสืบทอดการทำแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่รุ่นปู่ยา ตายาย จะใช้ลอยภายในงานวันที่ 3 พฤศจิกายนด้วย โดยรูปร่างหน้าของกระทงกาบกล้วยใบตองสาย ใช้กาบกล้วยความยาวประมาณ 1 เมตร นำมามัดหัวมัดท้าย จากนั้นมัดใบตองรูปสามเหลี่ยมแล้วนำมาร้อยเรียงทำกลีบใบตองสายรอบกาบกล้วย ประดับด้วยดอกไม้ นำข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวขาว ที่ผ่านพิธีกรรม เช่น ข้าวดำที่ผู้เฒ่าในหมู่บ้านจะปลุกเสกเอาไว้ให้ลูกหลานนำไปทำพิธีจ้ำตามร่างกาย หรือเรียกว่าพิธีสะเดาะเคราะห์นำสิ่งที่ไม่ดีในร่างกาย เอามาใส่ไว้ในกระทงให้ลอยไปกับสายน้ำ ซึ่งเป็นการประดิษฐ์กระทงและพิธีกรรมแบบโบราณ ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวไทญ้อ นอกจากนี้ยังมีนักเรียนจากโรงเรียนผู้สูงอายุ บ้านท่าขอนยาง มาร่วมแสดงชุด “ฟ้อนรวมน้ำใจชาวไทญ้อ” ให้ชมเป็นตัวอย่างด้วย
ชาวไทญ้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาพูดเหมือนภาษาไทยลาว ต่างเพียงสำเนียงเล็กน้อย คือน้ำเสียงสูง อ่อนหวาน ผิวขาว บ้านเรือนสะอาดตา ถิ่นฐานเดิมอยู่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ประเทศลาว หรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไชยบุรี ปากน้ำสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำโขง(ต.ไชยบุรี อท่าอุเทน จ.นครพนมในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2351
ส่วนนิสัยชาวไทญ้อส่วนมาก จะซื่อสัตย์ สุจริต รักสงบ มีความสามัคคี นิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำ จึงมีพิธีกรรมและอัตลักษณ์เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ เช่น การล่องเรือไฟ หรือ ปล่อยเรือไฟ นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11(วันออกพรรษา) ซึ่งจะเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องบูชารอยพระพุทธบาท การใช้ไฟเผาความทุกข์ การขอขมาและระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา เป็นต้น โดยเรือไฟในสมัยโบราณจะมีรูปแบบเรียบง่ายทำจากต้นกล้วยและลำไม้ไผ่ ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียนจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยลงในลำน้ำ
…ชัยชนะ แดงทองคำ…ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว