นักวิชาการเผยพบหนอนแบนนิวกินีใน 3 พื้นที่ของประเทศ “สงขลา-กรุงเทพมหานคร-ปทุมธานี” แนะประชาชนพบเห็นให้ทำลายทิ้งแต่ต้องทำให้ถูกวิธี ด้านไอยูซีเอ็นเตรียมหารือ สผ.ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์อันตรายต่อธรรมชาติ
กรณีมีกระแสข่าวพบหนอนตัวแบนนิวกินีในพื้นที่ จ.ปทุมธานี โดยหนอนชนิดนี้ถือเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่นเลวร้ายระดับ 1 ใน 100 ของโลก มีถิ่นกำเนิดในนิวกินี และมีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อมนุษย์หากมีการไชชอนเข้าร่างกาย อีกทั้งหากทำลายไม่ถูกวิธีจะยิ่งขยายแพร่พันธุ์เพิ่มนั้น
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านนิเวศวิทยาอนุรักษ์ ผู้ค้นพบหนอนตัวแบนนิวกินี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายงานการค้นพบหนอนชนิดดังกล่าว 3 พื้นที่ คือ ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร และบริเวณคลองหก จ.ปทุมธานี แต่ไม่ทราบว่าหนอนชนิดนี้เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด ลักษณะความชุกชุมจะพบมากในฤดูฝน เพราะฤดูฝนมีหอยทากมาก และหนอนชนิดนี้กินหอยทากเป็นอาหาร
“ที่บริเวณคลองหก ถือว่าพบมากเพราะบ้านที่พบเป็นทาวเฮ้าส์ปลูกผักภายในบริเวณบ้าน ดินมีความชุ่นชื้นมากและมีหอยทากมาก โดยพบหนอนชนิดนี้ตารางเมตรละ 1 ตัว เชื่อว่าเวลานี้จะกระจายไปหลายพื้นที่ แต่ไม่มีใครรู้จักเพราะค่อนข้างจะแยกแยะยากระหว่างหนอนตัวแบนกับทาก แต่ที่สามารถระบุได้ว่ามีอยู่ใน 3 พื้นที่ เพราะมีนักวิจัยอยู่ โดยหากจะตั้งข้อสังเกตหนอนตัวแบนชนิดนี้ จะมีลักษณะตัวแบนยาว 3-4 นิ้ว มีสีน้ำตาลเข้ม มีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัว เป็นสัตว์ 2 เพศ ในตัวเดียวกัน แต่การผสมพันธุ์จะต้องใช้ 2 ตัว ออกจากไข่ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ทันที ครั้งละ 5-10 ฟอง ใช้เวลา 7-8 วันก็จะฟักตัว อายุยืนประมาณ 2 ปี และสามารถวางไข่ได้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย ดังนั้นจึงแพร่พันธุ์เร็ว จึงขอความร่วมมือหากใครพบเห็นให้ทำลายทิ้ง” นายนณณ์ กล่าวและว่า สำหรับวิธีการทำลายคือ ต้องราดน้ำร้อน หรือโรยเกลือ อย่าใช้จอบหรือมีดสับเพราะมันจะขยายพันธุ์จะชิ้นที่ถูกสับออกไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้สังคมแตกตื่น แต่ต้องช่วยกันระมัดระวังและกำจัด
ด้านนายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) กล่าวว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีหลายชนิดมาก กรณีของหนอนตัวแบนนิวกินีนี้ ขณะนี้ยังไม่มีใครมีข้อมูลที่ชัดเจน จึงไม่อยากให้สังคมเกิดความตื่นตระหนก แต่ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีนักวิชาการสนใจเรื่องนี้ และออกมาแจ้งเตือนสังคมตั้งแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ยังไม่มีการสร้างความเสียหายใดๆมากนัก หลังจากนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันสำรวจและหารือเพื่อจัดการกับปัญหานี้ เพื่อให้หนอนชนิดนี้หมดไปจากธรรมชาติของประเทศไทย โดยไอยูซีเอ็นจะไปหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เกี่ยวกับเรื่องฐานข้อมูลของเอเลียนสปีชีส์ที่เป็นอันตราย และควรบรรจุให้สัตว์ชนิดนี้อยู่ในฐานข้อมูลเอเลียนสปีชีส์ที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ
ที่มา มติชนออนไลน์
ภาพจากกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม