เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2553 ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์รายชื่อธนาคารที่ให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารศูนย์บาท สำหรับการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิรับเงินสวัสดิการสังคม โดยยกเว้นเงินขั้นต่ำสำหรับการเปิดบัญชี
แต่ปรากฏว่ามีประชาชนบางส่วนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการรับเงินเบี้ยยังชีพ ว่าสามารถรับเบี้ยดังกล่าวได้ผ่านทางธนาคารเท่านั้น ซึ่งในสภาพความเป็นจริงนั้น ประชาชนบางพื้นที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปรับเงินที่ธนาคาร เนื่องจากต้องเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง และยังมีความประสงค์จะขอรับเป็นเงินสด เพราะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้บริการด้านต่างๆ แก่ผู้รับเบี้ยยังชีพ เช่น การดูแลสุขภาพ การให้ข้อมูลข่าวสาร
อีกทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จึงขอแจ้งว่า การเปิดบัญชีธนาคารศูนย์บาทนั้น เป็นเพียงการแจ้งประชาสัมพันธ์รายชื่อธนาคารที่ให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารศูนย์บาท ซึ่งเป็นข้อเสนอที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กำหนดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้รับเงินสวัสดิการและเงินอื่นๆ ตามนโยบาย e-payment และเพื่อให้นโยบาย e-payment ของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผล รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิรับเงินสวัสดิการสังคม ในการยกเว้นเงินขั้นต่ำสำหรับการเปิดบัญชีเท่านั้น ไม่ได้เป็นการบังคับว่าผู้รับเบี้ยยังชีพ ต้องเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อรับเบี้ยยังชีพแต่อย่างใด
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการรับเบี้ยยังชีพตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ข้อ 13 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2553 ข้อ 13 นั้น กำหนดว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพตามระเบียบฯ สามารถจ่ายได้ 3 วิธี คือ 1.รับเป็นเงินสดที่อบต.หรือเทศบาลตามเดิม 2.โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในนามผู้มีสิทธิ และ 3.มอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับแทนได้เป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้รับมอบอำนาจได้
และจากข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 พบว่ามีผู้ที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและผู้พิการมีจำนวน 9,699,169 คน โดยผู้ที่ประสงค์จะรับเบี้ยยังชีพเป็นเงินสด มีจำนวน 6,178,649 คน และผู้ที่ประสงค์จะรับเบี้ยยังชีพผ่านบัญชีธนาคาร มีจำนวน 3,520,520 คน ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งทำความเข้าใจในแนวทางและวิธีการรับเงินสวัสดิการให้แก่ประชาชนต่อไป
ที่มา:ข่าวสด