ใกล้เป็นความจริงเข้ามาแล้ว สำหรับร่างกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญแก่พี่น้องประชาชน ที่ต่อจากนี้ไป เราจะมีเปลี่ยน ไม้หวงห้าม ไปเป็น ไม้มีค่า
✅✅เดิมนั้น มีปัญหามากว่า ต้นไม้ หากเป็นไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ซึ่งตามกฎหมายป่าไม้เดิมนั้น กำหนดเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. ที่มี 18 ชนิด ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด ในราชอาณาจักร เป็นไม้หวงห้าม ถึงแม้จะขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ของเราเอง หากจะตัดไม้ดังกล่าว ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก่อนการตัดโค่น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะต้องโทษจำคุก 1 – 20 ปีเลยทีเดียว หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท
✅✅แต่ต่อจากนี้ไป หลังจากที่รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาทำงานบริหารประเทศ ได้มีการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายป่าไม้ ซึ่งเป็นกฎหมายเก่า ใช้มานานและล้าสมัย บังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ประมาณร่วม 80 ปีมาแล้ว
?? ได้ดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว ที่จะเปลี่ยนจากไม้หวงห้าม เป็น “ไม้มีค่า”ชาวบ้านสามารถปลูกไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง เมื่อต้นไม้โตได้ขนาด ก็ตัดขาย เป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
✅✅ประเด็นเนื้อหาที่สำคัญ ที่มีการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ดังกล่าว มี 2 – 3 ประเด็น กล่าวคือ กำหนดให้ ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ตามกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป ชาวบ้านสามารถปลูกไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง แล้วตัดขายได้
??ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มกระบวนการในการรับรองไม้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันแหล่งที่มาของไม้ว่า เป็นไม้ที่ขึ้นหรือปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพียงไปแจ้งเพื่อขอออกหนังสือรับรองไม้ โดยให้เป็นภาคสมัครใจ พูดง่ายๆคือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่มีค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรองดังกล่าว
✅✅เหตุผลที่จะต้องมีการรับรองไม้ดังกล่าว เพื่อเป็นการตรวจสอบ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการสวมต่อไม้ เพื่อไม่ให้เกิดการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่า แล้วมาแจ้งว่าเป็นไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์
✅✅ที่บอกว่า ใกล้เป็นจริงนั้น นับตั้งแต่ ครม. ได้เห็นชอบให้มีการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายป่าไม้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา และล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการ วาระ 1 จาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนข. เป็นที่เรียบร้อยร้อยแล้ว สนช.จะพิจารณาในวาระ 2 แปรญัตติให้เกิดความรอบคอบสมบูรณ์ และลงมติให้ความเห็นชอบในวาระสาม ประกาศใช้เป็นกฎหมายในเร็วๆวันนี้
✅✅ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ทำงานควบคู่กันไปเพื่อให้ไม้มีค่า มีค่าจริงกับพี่น้องประชาชน ได้ทำงานคู่ขนาน ผลักดันในหลายๆเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น ได้อนุมัติหลักการร่างกฏกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ที่ได้กำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 58 ชนิด เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
✅✅นอกจากนั้นยังมีโครงการ“ชุมชนไม้มีค่า” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการดำเนินโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า” มีเป้าหมาย ให้เกิดชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชนทั่วประเทศ เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 10 ปี ขณะนี้ก็มีชุมชนไม้มีค่า 3,000 ชุมชนในประเทศ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมี พี่น้องประชาชนกว่า 2 ล้าน 6 แสนครัวเรือน ปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนละ 400 ต้น จะทำให้มีต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านต้น ทำให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เฉลี่ย 1 แสนล้านบาทต่อปี
✅✅นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่รัฐบาล ได้ดำเนินการแล้ว สำหรับพี่น้องประชาชน ใครที่มีที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง ที่ยังไม่ได้ปลูกไม้มีค่าไว้ ก็ยังไม่สายที่จะลงมือปลูกเสียแต่วันนี้ เป็นการออมเงินในอากาศ ที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตามกาลเวลาในทุกวัน เมื่อมีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงิน ก็สามารถตัดไม้ขายได้
✅✅วันนี้ เริ่มวางแผนกันปลูกไม้มีค่าไว้ในวันที่ลูกคลอด ผ่านไป 18 ปี ในวันที่ลูกต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก็มีทุนสะสมที่จะส่งเสียให้ลูกเรียนได้อย่างสบาย ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินหรือขายวัว ขายควาย ขายที่นาเพื่อส่งลูกเรียน
✅✅ไม้มีค่า นอกจากจะเกิดประโยชน์โดยตรงกับพี่น้องประชาชนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและต่อโลกที่จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น
✅✅“ประชาชนมีอาชีพ เกิดรายได้จากการปลูกปลูกไม้มีค่า ส่วนประเทศชาติได้ผืนป่ากลับคืนมา”
////
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์