วันที่ 3 ก.ย. ที่รัฐสภา น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ กล่าวถึงรายงานของ กมธ.ฯที่รายงานต่อสภาฯไปเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ว่า จากข้อเสนอให้มีการฉีดอวัยยะเพศ ผู้ที่กระทำความผิดคดีข่มขืน ด้วยการฉีดให้ฝ่อ ไม่ได้เป็นการฉีดถาวร แต่มีระยะเวลาที่ต้องฉีดทุก 3 เดือน ซึ่งในส่วนนี้จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะเป็นโทษ หรือบำบัด และหาวิธีการรักษาว่าจะทำอย่างไรให้เป็นการรักษาระยะยาว
ซึ่งจะเป็นการฉีดหลังพ้นโทษออกมา เช่น กรณีคนพ้นโทษออกมาแล้วกลับมาทำผิดซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม กมธ.ไม่ได้เสนอให้ฉีดเพื่อลดฮอร์โมนอย่างเดียว แต่มีการลงทะเบียนติดตามความผิด เพื่อติดตามดูคนที่มีความเสี่ยงที่จะทำผิดซ้ำอีก แต่ก็ต้องดูในเรื่องของสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปด้วย ส่วนการนำไปสู่การลงโทษด้วยวิธีดังกล่าวนั้นยังไม่ได้ลงในรายละเอียด
แต่มีข้อสังเกต 3 ประเด็นคือ 1.การเก็บดีเอ็นเอของผู้กระทำความผิด 2. การลงทะเบียนผู้กระทำความผิด และ3.การใช้ฮอร์โมน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยที่ต้องศึกษามากกว่านี้ และแต่ละกระทรวงควรนำข้อสังเกตุเหล่านี้ไปเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาต่อไป
“ตอนนี้จึงยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการลงโทษ ซึ่งกมธ.มองว่าควรเป็นส่วนของผู้กระทำความผิดที่ดูแล้วไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ และกระทำการข่มขืนซ้ำซากกฎหมายนี้จึงครอบคลุมทุกเพศ ทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะเพศหญิงที่ถูกกระทำ แต่ร่วมไปถึงเพศอื่นที่ถูกล่อลวงด้วย”น.ส.พัชรนทร์ กล่าว
น.ส.พัชรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้หญิงที่กระทำความผิดจะต้องถูกฉีดลดฮอร์โมนด้วยหรือไม่นั้น เรายังไม่ได้ศึกษาว่าเพศไหน อย่างไร แต่ที่ผ่านมาในต่างประเทศจะเป็นเฉพาะเพศชาย นอกจากนี้กรณีมีการข่มขืนศพ จะต้องมีการฉีดด้วยหรือไม่ ในชั้นกมธ.ฯ ไม่ได้มีการพูดถึงในประเด็นนี้ ซึ่งเราศึกษาในส่วนของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องของศพ เราเน้นว่าจะทำอย่างไรให้สังคมปลอดภัย เกิดการป้องกัน และแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลข่าวจาก ข่าวสด