นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลจากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิต เมื่อปี 2556 ซึ่งสำรวจทุก 5 ปี พบว่าคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 7 ล้านคน พบใน 5 กลุ่มโรค ประกอบด้วย กลุ่มโรคซึมเศร้า กลุ่มที่มีภาวะจิตผิดปกติซึ่งเรียกว่าโรคจิตเภท กลุ่มที่มีความวิตกกังวล กลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด และกลุ่มที่มีปัญหาแทรกซ้อนจากสิ่งเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ ยาเสพติด เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2551 พบปัญหาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม คาดว่าแนวโน้มในอนาคตปัญหาสุขภาพจิตจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้ให้ศูนย์สุขภาพจิต ทั้ง 13 ศูนย์ทั่วประเทศ ร่วมกับเขตสุขภาพต่างๆ ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพจิตดี มีความสุข รองรับประเทศไทยยุค 4.0 ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเจริญมีเทคโนโลยีความทันสมัยด้านต่างๆ โดยเน้นการตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้ได้รับการดูแลส่งเสริมอย่างเหมาะสมครอบคลุมทุกกลุ่มวัย การให้ความรู้สร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งการใช้องค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก้ปัญหาโรคเรื้อรังด้วย เช่น มีผลการวิจัยของ รพ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อปี 2558-2559 พบว่าการใช้กระบวนการทางจิตวิทยาคือการให้คำปรึกษาแบบมีทิศทาง สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีปัญหาควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วย มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้สูงถึงร้อยละ 74 ซึ่งผลวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรคอื่นได้ เช่น โรคเบาหวาน ผู้ป่วยจิตเวช วัณโรค โรคเอชไอวี เป็นต้น เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาให้ผลดียิ่งขึ้น