พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ/ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้สั่งการให้ กองทัพเรือ ลำเลียงเรือผลักดันน้ำจำนวน 25 ลำ ที่เสร็จสิ้นภารกิจการผลักดันน้ำในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เดินทางต่อไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ในการเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด
เสนาธิการทหารเรือ กล่าว่า พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ/ ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย จึงได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เตรียมเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือให้มีความพร้อม ตลอดจนเร่งรัดการลำเลียงเรือผลักดันน้ำจำนวน 25 ลำ ที่ดำเนินการการผลักดันน้ำในพื้นที่จังหวัดสกลนครจนเข้าสู่สภาวะปกติเรียบร้อยแล้ว ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ตามที่ได้รับการร้องขอจากทางจังหวัดอุบลราชธานี
โดยวันนี้ (21 กันยายน 2562) เวลา 14.45 น. พลเรือตรี กวี องคะศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายแผนทหารเรือพระจุลจอมเกล้ากรมอู่ทหารเรือ /รองหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำกองทีพเรือ ซึ่งควบคุมการปฏิบัติในพื้นที่ ได้เป็นประธานในการปล่อยรถลำเลียงเรือผลักดันน้ำชุดแรก จำนวน 14 ลำ และตู้พักอาศัย 1 ตู้พร้อมเรือท้องแบน 1 ลำ โดยคาดว่าจะถึงจังหวัดอุบลราชธานีช่วงค่ำๆของวันนี้ ซึ่งเมื่อถึงพื้นที่แล้วจะทำการติดตั้งและเดินเครื่องในโอกาสแรก ส่วนขบวนรถชุดที่ 2 จะถึงจังหวัดสกลนครในช่วงเย็นวันนี้ และจะทำการเคลื่อนย้ายเรือผลักดันน้ำที่เหลือ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในวันพรุ่งนี้เช้า โดยคาดว่าน่าจะเข้าพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ช่วงเย็นๆ
ซึ่งเรือผลักดันน้ำทั้ง 25 ลำ จะทำการติดตั้งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูลอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งคาดว่าจะทำให้มวลน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ที่คงมีอยู่ทำให้ กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี 2554 ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือ
– ขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
– ขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
– ขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว