“เห็นข่าวคนถูกไฟฟ้าช็อต เขาก็ลากเพื่อนออกไปฝังทราย ฝังเท่าไรก็ไม่ฟื้น ก็โทร.เรียกรถฉุกเฉินให้มารับ แต่ก็เสียชีวิต คือ เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในทราย จริงๆ ช่วงเวลานั้น ตั้งหลายนาที มันน่าจะช่วยชีวิตไว้ได้ ใครจะเชื่อไหมว่าในปีนี้ 2017 ประชาชนไทยช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าช็อตด้วยการเอาไปฝังทราย มันไม่ใช่ ความผิดของเขา แต่มันเป็นความไม่รู้”
เรื่องเล่าจาก นพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในงานฝึกอบรมการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี และเทคนิคการนำเสนอฉากละครการแพทย์แก่ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ ณ รร.The Bazaar Hotel แยกรัชดา-ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เป็นทั้ง “อุทาหรณ์” และประเด็นชวนคิด ว่าใน “ศตวรรษที่ 21” ยุคที่อะไรๆ ก็เป็น “ดิจิตอล”เทคโนโลยีล้ำๆ ผูกติดกับชีวิตประจำวัน “ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล” กลับยังคงดำรงอยู่ และก่อให้เกิดเหตุสลดขึ้น
ผช.เลขาธิการ สพฉ. เล่าถึงอีกตัวอย่างแต่เป็นในทางกลับกัน มีแพทย์ท่านหนึ่งหลังเสร็จงานเข้าเวรในโรงพยาบาลก็ได้ขับรถกลับบ้าน แต่ด้วยร่างกายที่อ่อนเพลีย เกิดหลับในจึงประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ เมื่อหน่วยกู้ภัยมาถึงและแพทย์ท่านนี้ ยังมีสติอยู่ ได้บอกกับหน่วยกู้ภัยว่า “อย่าขยับร่างผม กระดูกคอผมหัก” ซึ่งคำพูดเท่านี้เอง ที่ทำให้แพทย์ท่านนี้ “ไม่ต้องกลายเป็นคนพิการ” เพราะหลังจากนั้นหน่วยกู้ภัยก็ประสานให้นำ เครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ นี่จึงเป็นบทเรียนว่า “ความรู้ที่ถูกต้อง” สามารถช่วยรักษาชีวิตคนคนหนึ่ง ให้ปลอดภัยได้
“กระดูกคอเขาหักจริงๆ ก็ต้องมีการดามคอ แต่โชคดีตอนนั้นเขาได้สติอยู่ ถ้าไปโยกเขาย้ายเขาแต่ย้ายผิด เขาก็คงจะเป็นอัมพาตไปทั้งชีวิต”นพ.สัญชัย ระบุ
ผช.เลขาธิการ สพฉ. กล่าวอีกว่า “ละครภาพยนตร์” มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ด้านการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง เพราะในละครหรือภาพยนตร์อย่างไรก็ต้องมีฉากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว อาทิ อุบัติเหตุบนท้องถนน ถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกสัตว์มีพิษกัด จมน้ำ ชักเกร็ง โรคหัวใจ หรือกรณีมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยในป่าลึก จะใช้อะไรทำเปลลำเลียงผู้บาดเจ็บ หรือใช้อะไรห้ามเลือด สิ่งเหล่านี้หากทำให้ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
ขณะที่ ว่าที่ร.ต.การันต์ ศรีวัฒนบูรพา หัวหน้างานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สพฉ.กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดและเติบโตขึ้นมา ทุกคนผ่านการเรียนรู้ด้านการแพทย์และดูแลสุขภาพจากการเรียนในระบบการศึกษาบ้าง เช่น ชั่วโมงลูกเสือ- เนตรนารี หรือวิชาสุขศึกษา รวมทั้งการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน เช่น การบอกการสอนต่อๆ กันมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่จำมาจากละคร -ภาพยนตร์ ซึ่งหลายเรื่องเป็น “ความเชื่อ” ที่ไม่ทราบที่มาแน่ชัด หรือหลายเรื่องก็เป็น “วิธีที่ล้าสมัยแล้ว” ในอดีตเคยใช้เคยทำแต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นวิธีอื่นตามความรู้ใหม่ที่ค้นพบ
อาทิ “จมน้ำ” หลายคนเชื่อว่าเมื่อนำตัวคนจมน้ำขึ้นมาจากน้ำได้ จะต้อง “จับห้อยหัวแล้วเขย่าแรงๆ” เพื่อไล่น้ำออกมาจากร่างกาย แต่ในความเป็นจริงเขย่าอย่างไรน้ำก็ไม่ออก ซึ่งวิธีที่ ถูกต้องคือ “เป่าปาก-ปั๊มหัวใจ” (CPR) เพื่อไม่ให้คนจมน้ำหัวใจหยุดเต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการเป่าปากแม้จะช่วยได้มาก แต่หากผู้ปฐมพยาบาลไม่มั่นใจ เช่น คนที่จมน้ำไม่ใช่ญาติพี่น้องที่สนิมสนม หรือจมน้ำในคลองที่น้ำไม่สะอาด กังวลว่าเป่าปากไปแล้วอาจจะติดเชื้อ ให้ปั๊มหัวใจอย่างเดียวก็ได้ รอจนกว่าหน่วยกู้ภัยจะมาถึงซึ่งจะมีอุปกรณ์ช่วยหายใจติดมาด้วยโดยไม่ต้องประกบปากเป่า
อนึ่ง…บทความ “แนวทางการช่วยเหลือคนจมน้ำ ตกน้ำ” จากเว็บไซต์ สพฉ. (www.niems.go.th) ระบุขั้นตอนหลังช่วยผู้ประสบเหตุขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว หากหยุดหายใจ คลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้กดหน้าอกทันที โดย “ใช้สันมือ”กดที่บริเวณกลางหน้าอกให้ลึกลงไปประมาณ 1-1.5 นิ้ว (5 เซนติเมตร) ความเร็ว 100 ครั้ง ต่อนาที กด 30 ครั้ง ต่อรอบ สลับกับการเป่าปาก ให้ครบ 5 รอบ
ส่วนการเป่าปากช่วยหายใจ ให้รีบดำเนินการ ทันที อย่าเสียเวลาพยายามเอาน้ำออกหรือผายปอดด้วยวิธีอื่น เพราะจะไม่ทันการณ์และไม่ได้ผล “หากหัวใจหยุดเต้นเกิน 4 นาทีโอกาสรอดชีวิตจะเหลือต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์” ถ้าเป็นไปได้ควรลงมือเป่าปากตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น พาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้นๆ ทั้งนี้เมื่อเริ่มเป่าปาก สักพัก หากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง ให้จับผู้จมน้ำนอนคว่ำ ใช้มือ 2 ข้างวางใต้ท้องผู้จมน้ำ ยกท้องผู้จมน้ำขึ้น จะช่วยไล่น้ำออกจากท้องให้ไหลออกทางปากได้ แล้วจับผู้จมน้ำพลิกหงายและทำการเป่าปากต่อไป
อย่างไรก็ตามหากผู้จมน้ำยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับให้นอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก จากนั้นควรส่งผู้ป่วยที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใดไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ให้ผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง
หรืออาการ “ชักเกร็ง” ที่ผ่านมามักจะสอนกันว่า “ไปหาสิ่งของมาใส่ปากให้คาบ จะได้ ไม่เผลอกัดลิ้นขาด” ว่าที่ ร.ต.การันต์ กล่าวว่า ในความเป็นจริงคนที่ชักเกร็งจะ “ขบฟันแน่น” ไม่ได้กัดลิ้นแต่อย่างใด การหาวัตถุต่างๆ เช่น ช้อน มาออกแรงงัด บ่อยครั้งนอกจากจะงัดไม่เข้าแล้วยังไปทำให้ “ฟันหัก-เหงือกเป็นแผล” ได้รับบาดเจ็บอีกต่างหาก เรื่องเหล่านี้แพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินพบเห็นเป็นประจำ
“ชักเกร็ง คนไข้เขาจะใช้เวลาไม่นาน อาการพวกนี้เกิดประมาณ 1-2 นาที ก็จะหยุด สิ่งที่ต้องดูคือความปลอดภัยของเขา ณ ขณะนั้นที่เขาไม่รู้สึกตัว ถ้านั่งบนเก้าอี้ก็พาลงมานั่งที่ปลอดภัย เช็ดน้ำลายเช็คสิ่งแปลกปลอม แล้วก็นำส่งโรงพยาบาล แค่นั้นเอง ถ้าเขาหายชักก็จับให้นอนตะแคง ไม่มีอะไรเลย” ว่าที่ ร.ต.การันต์ กล่าว
รวมถึง “งูกัด” ดั้งเดิมที่สุดมักสอนกันมาว่า “ใช้ปากดูดพิษออก” ซึ่งภายหลังพบว่าเป็นอันตราย พิษจะเข้าสู่ร่างกายผู้ปฐมพยาบาลได้ จากนั้นมาจึงแนะนำให้ “ขันชะเนาะ” รัดคั่นกลางระหว่างแผลกับหัวใจเพื่อป้องกันพิษงูแล่นเข้าสู่หัวใจ แต่ต่อมาก็พบอีกว่าไม่ควรทำ เพราะเสี่ยงต่อภาวะ “เนื้อตาย” เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงอวัยวะที่ถูกรัดจนต้องตัดอวัยวะนั้นทิ้ง
“การปฐมพยาบาลถูกงูกัดตามหลักการสมัยใหม่ ไม่ต้องขันชะเนาะ อย่างแรกคือไม่ต้องสนว่างูอะไร ให้สงสัยว่ามีพิษไว้ก่อน หาอะไรมาปิดแผลไว้ จากนั้นให้อยู่นิ่งๆ ถ้าเป็นแขนหาอะไรมาดาม ผ้าคล้องแขนก็ได้ ไปโรงพยาบาลก็อย่าแกว่งแขน แต่ถ้าถูกกัดที่ขาเดินไปอาจจะอันตราย เรียก 1669 ให้รถกู้ชีพไปส่งก็ได้ แต่ขยับอวัยวะนั้นให้น้อยที่สุด” ว่าที่ ร.ต.การันต์ อธิบาย
หัวหน้างานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สพฉ. ยังยกตัวอย่างเรื่องงูกัดต่อไปว่า ครั้งหนึ่งเคยเจอผู้โพสต์ข้อความเชิง “บ่นไม่พอใจ” บนโลกออนไลน์ว่า “โดนงูกัดทำไมหมอไม่ฉีดเซรุ่มให้?”ซึ่งข้อเท็จจริงคือ “เซรุ่มเป็นยาแก้พิษ” เมื่อคนถูกงูกัดไปถึงมือแพทย์ เบื้องต้นคือ “รักษาตามอาการ” เช่น ถ้าพิษงูทำลายระบบหายใจ แพทย์ก็จะใส่ท่อช่วยหายใจให้ก่อน หรือถ้ามีอาการปวดมากแพทย์ก็จะให้ยาแก้ปวดก่อน เป็นต้น ดังนั้นการมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล นอกจากจะช่วยชีวิตตนเองและคนใกล้ตัวให้ปลอดภัยได้แล้ว
ยังช่วยลดปัญหา “ดราม่า” ความขัดแย้งระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับผู้ป่วยได้ด้วย
ที่มา: สสส.