ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แต่หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้วางแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 1 พ.ย.61 เป็นวันเริ่มต้นแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง จากข้อมูลพบว่า มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งในเขตและนอกกเขตชลประทานทั่วประเทศจำนวน 43,905 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะจัดสรรน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 จำนวน 30,145 ล้าน ลบ.ม.โดยจัดสรรให้เกษตรกรรมเพื่อใช้ปลูกข้าวนาปรัง ข้าวโพด พืชไร่ พืชผัก จำนวน 18,709 ล้าน ลบ.ม.ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ 16.13 ล้านไร่ แบ่งเป็นเขตชลประทาน 13,953 ล้าน ลบ.ม.สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ 10.46 ล้านไร่ และ นอกเขตชลประทานจำนวน 4,756 ล้าน ลบ.ม.ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ 5.67 ล้านไร่ และที่เหลือจะสำรองน้ำต้นฤดูฝน ปี 62 จำนวน 13,760 ล้าน ลบ.ม.และในที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้เห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 61/62 ซึ่งได้วางแผนการจัดสรรน้ำ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ดังนี้
1. น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ซึ่งมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ให้บริการของการประปานครหลวง (กปน.) จะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการตลอดปี 62 ส่วนในพื้นที่ให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาคได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจำนวน ๒๓๔ สาขา พบว่า มีพื้นที่สาขาของการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 9 แห่ง มีผู้ใช้น้ำ 51,120 รายที่ต้องเฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ ได้แก่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด อ.พยัคภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ อ.แม่ขะจาน จ.เชียงราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ซึ่งได้สั่งการให้ กปภ.จัดการแหล่งน้ำสำรอง เพื่อนำน้ำมาผลิตประปาให้เพียงพอกับความต้องการแล้ว ส่วนพื้นที่นอกเขตพื้นที่ให้บริการของ กปภ.มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทั้งหมด 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น เลย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ สุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยธานี อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี และราชบุรี เบื้องต้นได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งขุดเจาะน้ำบาดาลให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ โดยภายในปี 62 ต้องได้ 338 แห่ง พื้นที่ 20 จังหวัด แต่ในส่วนพื้นที่ 73 ตำบล 31 อำเภอ ใน 9 จังหวัดซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานและเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีบ่อบาดาล ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอแผนการขุดเจาะเพิ่มเติมในระยะต่อไป
2. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ได้สั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนในการระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มและรักษาคุณภาพน้ำทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำปราจีนบุรี-บางปะกง พร้อมให้เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำปิง แม่น้ำชี แม่น้ำตาปี ทะเลสาบสงขลา สำหรับมาตรการควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่ชุมชนมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดำเนินการ ในส่วนของน้ำเพื่อเกษตรกรรม มีพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เสี่ยงต่อภัยแล้ง จำนวน 11 จังหวัด 27 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ได้แก่ สุโขทัย นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานีและสุพรรณบุรี
3. น้ำเพื่อเกษตรกรรม มาตรการเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ โดยมอบหมาย ก.เกษตรฯ เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวซึ่งใช้น้ำมากเป็นพืชอื่นแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเลี้ยงสัตว์ แตงโม พืชผัก ถั่ว ข้าวโพดฝักสดที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทน คิดเป็นพื้นที่ 103,787 ไร่ รวมถึงให้เกษตรกร 2,773 ราย พื้นที่ 33,800 ไร่ หันไปประกอบอาชีพอื่นแทน เช่น หัตถกรรม ค้าขาย แปรรูปอาหาร เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกร 1,408 ราย พื้นที่ 13,965 ไร่ เลี้ยงปศุสัตว์ เช่น ไก่ สุกร โคเนื้อ อีกด้วย
4. น้ำเพื่ออุตสาหกรรม จากการประเมินพบว่า มีความต้องการใช้น้ำตั้งแต่เดือน พ.ย.61 – เม.ย.62 ทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 1,077 ล้าน ลบ.ม.จึงได้จัดสรรจากแหล่งน้ำที่มีอยู่บนดินจำนวน 911 ล้าน ลบ.ม.และจัดสรรจากน้ำบาดาลอีก 166 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งแต่อย่างใด
รัฐบาลคาดการณ์ว่า ฤดูแล้งปี 61/62 จะเป็นปีที่ 2 ที่จะไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เช่นเดียวกับปี 60/61 ซึ่งตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมาประเทศไทยมีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งลดลงอย่างต่อเนื่อง สามารถลดงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาได้มาก และการบูรณาการร่วมกันระหว่าง ก.เกษตรฯ ก.ทรัพย์ ก.กลาโหม และ ก.มหาดไทย ได้เตรียมความพร้อมเรื่องเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืชอย่างต่อเนื่องและที่สำคัญคือให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประสานผ่าน ก.มหาดไทย เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นร่วมดำเนินการตามแผนป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 62 และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเป็นระยะๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วที่สุด