ชาวนาเมืองน้ำดำโอดเจอปัญหารุมเร้าหนัก ข้าวราคาตก ซ้ำต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขายข้าวไม่พอใช้จ่าย วอนรัฐบาลเร่งช่วย บางรายสุดทนถึงกับต้องติดป้ายขายที่นาของตนเองกันเป็นทิวแถว
จากการติดตามภาวะข้าวที่เริ่มออกสู่ตลาดในฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ปรากฏว่าอาชีพชาวนาในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ชาวนาหลายพื้นที่ระบุว่า ต้นทุนการทำนาสูง แต่ขายข้าวไม่ได้ราคา บางรายต้องติดป้ายขายที่นาของตนเอง
ล่าสุดผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์แจ้งว่า ผลกระทบจากต้นทุนและราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำที่สุดขณะนี้ จากการสำรวจพื้นที่นาข้าวพบว่าชาวนาหลายรายในเขตตำบลลำพานพากันติดป้ายขายที่นาของตนเอง เพราะประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซากจากภาวะราคาข้าวเปลือกตกต่ำ
ในฤดูกาลผลิตปี 2560/61 โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่ราคาตันละ 10,800 บาท และข้าวเหนียวตันละ 6,000 บาท ตามค่าความชื้นในราคาซื้อจริงนั้นทำให้ชาวนาขายข้าวได้หอมมะลิเพียงตันละ 7,000 บาท ถึง 8,000 บาท และ ข้าวเหนียงเฉลี่ยตันละ 4,000 บาท ถึง 5,000 บาทเท่านั้น
นายประหยัด มงคลพันธ์ อายุ 53 ปี ชาวนาบ้านตูม เลขที่ 53 หมู่ 1 9 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะต้องขายที่นา ซึ่งมีเพียง 13 ไร่ ให้นายทุน เพราะปัญหาการทำนา ค่าจ้างแรงงาน เฉพาะในช่วงเก็บเกี่ยวตกคนละ 350 บาท แต่จะหนักในราคาปุ๋ย ต่อไร่ต้นทุนจะอยู่ที่ไร่ละ 3,500 บาท ถึง 5,000 บาท
สิ่งที่ทำให้ชาวนาต้องเป็นหนี้สิน ธ.ก.ส. ก็มาจากความจำเป็นที่จะต้องหยิบยืมเงินธนาคาร และทำการหมุนเวียนไปในแต่ละปี
ชาวนาไม่สามารถจะยืนด้วยขาของตนเองได้ เพราะไม่มีรัฐบาลชุดไหนไปควบคุมราคาปุ๋ยและเครื่องมือทางการเกษตร แต่กลับเน้นในรูปแบบการส่งเสริมให้ชาวนาเป็นหนี้ จึงทำให้ขณะนี้เพื่อนบ้านหลายครอบครัวต้องเลิกอาชีพชาวนาและมีการติดป้ายประกาศขายที่ดินเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ ธ.ก.ส. และหนี้นอกระบบ
“ในส่วนครอบครัวของผมนั้นก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้หากเศรษฐกิจยังตกต่ำอยู่เช่นนี้ก็คงต้องขายที่นาผืนสุดท้ายเพื่อไปใช้หนี้และหันไปทำอาชีพรับจ้างอย่างแน่นอน” นายประหยัดกล่าว และว่า
สำหรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวนาในขณะนี้ อยากให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือชาวนาไทยอย่างจริงจัง เพราะการกระทำตามนโยบายเกษตร 4.0 เป็นการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อการซื้อขาย แต่ในข้อเท็จจริงนโยบายดังกล่าวไปเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบัตรกดเงินคนจน ก็ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่
ทำให้ร้านค้ารายเล็กซึ่งเป็นของชุมชนปิดตัว เพราะเงินไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่กลับไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เชื่อว่าทุกคนก็รู้เรื่องนี้แต่รัฐบาลก็ยังปล่อยให้เกิดขึ้น
ข้อมูลข่าวจาก: ผู้จัดการออนไลน์