ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ถามผู้นำแรงงานขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาท คนจ้างจะคิดยังไง ส่งผลเสียทุกฝ่าย เหมือนขายของตั้งราคาขายสูง แต่ไม่มีคนซื้อ
วันที่ 9 ตุลาคม 2560 พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในคณะกรรมการค่าจ้าง ให้พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยมีแนวคิดว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือในการปกป้องแรงงานแรกเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อไม่ให้ถูกปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไม่ถูกต้อง ประกอบกับคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างนั่งอยู่ด้วย จึงสามารถชี้แจงความต้องการของฝ่ายลูกจ้างได้ทุกประเด็น เพื่อให้คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลเหตุผล โดยที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงหรือชี้นำได้
โดยนายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 712 บาท ของนายสาวิทย์ แก้วหวาน ผู้นำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยนั้น หากมองมุมกลับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการผลิต การลงทุน และภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยการปรับค่าจ้างนั้นมีตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ มาร่วมกันพิจารณา การที่เรียกร้องค่าจ้างถึง 712 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนคิดอย่างไร และผลดีหรือผลเสียเกิดขึ้นกับใคร เรียกได้ แต่ไม่มีคนจ้าง ก็เหมือนกับการตั้งราคาขายสินค้าไว้สูง แต่ไม่มีคนซื้อ จึงถือว่าเป็นการเรียกร้องที่ไม่มีประโยชน์
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งพัฒนาฝีมือแรงงานไทย เพื่อรองรับการผลิตที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะทำให้ได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่จะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะนี้ได้รับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานไปแล้วกว่า 68 สาขาอาชีพ ได้ค่าจ้างสูงสุดถึง 815 บาทต่อวัน และภายในปี 2561 จะให้การรับรองเพิ่มอีกกว่า 16 สาขาอาชีพ
ภาพจาก workpointtv
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก dailynews