โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป็นโครงการที่รัฐบาลริเริ่มขึ้นเพื่อชะลอปริมาณข้าวเปลือกออกสู่ตลาด โดยเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรสามารถกู้เงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เพื่อใช้เป็นค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ที่ยุ้งฉางของตัวเองระยะหนึ่ง แล้วค่อยนำออกไปขายเมื่อข้าวมีราคาดี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ระหว่างที่ยังไม่ได้ขายข้าว และยังทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดมีเสถียรภาพด้วย ล่าสุดที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 พ.ย.61 – 31 ธ.ค.62
สำหรับผู้กู้ตามโครงการนี้ก็จะมีทั้งเกษตรกรรายคน วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 300,000 บาท และสถาบันเกษตรกร คือ สหกรณ์การเกษตร วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินสหกรณ์ละ 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินกลุ่มละ 20 ล้านบาท วิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท
นอกจากเงินกู้หรือสินเชื่อที่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรจะได้รับแล้ว รัฐบาลยังจ่ายค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้ด้วย โดยเงินส่วนนี้เป็นเงินจ่ายขาดให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการตันละ 1,500 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการข้าวเปลือกก่อนนำข้าวขึ้นยุ้งฉาง เช่น ตากเพื่อลดความชื้น คัดแยกสิ่งเจือปน บรรจุข้าวใส่กระสอบเกษตรกรคนไหนไม่มียุ้งฉาง หรือลานตาก ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ผ่านสถาบันเกษตรกร และที่ผ่านมาได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเช่าสถานที่เก็บรักษาข้าวเปลือกได้จากสถาบันเกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเอกชนที่มีความพร้อม ได้ แต่ต้องไม่เกิน 10,000 ตัน และยุ้งฉางที่ใช้เก็บรักษาข้าวเปลือกต้องมีลักษณะยกพื้นสูง และเทกอง
เมื่อไม่นานนี้…รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. ได้ทบทวนเพื่อประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการฯ โดยเห็นว่าควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ของโครงการใหม่ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดเก็บข้าวในยุ้งฉางของตัวเองทั้งเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และยกเลิกการให้เช่ายุ้งฉางหรือสถานที่เก็บข้าวตามโครงการฯ รวมทั้งปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นโดยให้เก็บรักษาข้าวเปลือก ด้วยการบรรจุในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูง หรือไซโล (Silo) ยกเว้นกรณีเทกอง จะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาของโครงการฯ
ทั้งนี้ หากเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ซึ่งหน่วยงานนั้น ๆ ไม่ได้ไปเช่าสถานที่อื่น จะได้รับค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกจากเดิมตันละ 500 บาท เป็นตันละ 1,000 บาท ส่วนสหกรณ์จากเดิมได้รับตันละ 1,000 บาท เป็นตันละ 500 บาท เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง
ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนี้ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (11 ก.ย.2561)