ชาวนาเฮ! ราคาข้าวหอมมะลิราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แตะตัน 17,700 บาท อานิสงส์จากการส่งออกที่สูงกว่าเป้าหมาย ในขณะที่ผลผลิตฤดูกาลใหม่อาจมีปริมาณลดลงจากภาวะภัยแล้งในแหล่งผลิตสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นปีทองของชาวนา
ข้าวหอมมะลิราคาพุ่ง – นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกันกับสมาคมโรงสีข้าว ผู้แทนเกษตรกร ชาวนาหลายพื้นที่ พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น จ.ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญได้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงจากปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่า 20% ขณะนี้มีข้าวเปลือกหอมมะลิต้นฤดูออกสู่ตลาด ราคาที่ชาวนาขายได้สูงขึ้นเป็นลำดับ จนอยู่ในระดับกว่าตันละ 15,000 บาท และยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกจะทำได้สูงกว่าเป้าหมาย ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น
โดยข้าวหอมมะลิความชื้น 15% มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เป็นตันละ 14,750-17,700 บาท ในขณะที่ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับตันละ 11,550-14,500 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดยาว ความชื้น 15% ตันละ 9,000-10,800 บาท ปีที่ผ่านมาตันละ 7,200-12,000 บาท ข้าวเจ้า 5% ความชื้น 15% ราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7,500-7,900 บาท ปีที่ผ่านมาตันละ 7,300-7,800 บาท
และยังมีข่าวดีเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบข้าวที่ได้ตกลงขายให้ประเทศจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อีกกว่า 900,000 ตัน ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. จึงมั่นใจได้ว่า ปี 2561 การส่งออกข้าวของไทยจะสูงกว่า 11 ล้านตัน อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
สำหรับมาตรการที่จะนำมาใช้รองรับข้าวในฤดูกาลผลิต 2561/62 ที่กำลังจะออกสู่ตลาด รัฐบาลได้เตรียมการรองรับไว้รวม 3 มาตรการหลักๆ ที่สำคัญคือ
1. การชะลอจำหน่ายข้าวเปลือกนาปี เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเก็บสต๊อกโดยรัฐบาลจ่ายค่าฝากเก็บให้เกษตรกรที่เก็บข้าวในยุ้งฉางของตนเอง ตันละ 1,500 บาท หากฝากเก็บในยุ้งฉางของสหกรณ์หรือกลุ่มวิสาหกิจ จะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท
นอกจากนั้น ยังมีการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เป็นอัตราการจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากครัวเรือนละ 6,000 บาท ในปีที่ผ่านมา
2.ส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้เก็บสต๊อกข้าวแทนสมาชิกโดยรัฐบาลสนับสนุนทุนในการจัดเก็บอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี 3. จูงใจให้โรงสีดูดซับผลผลิตข้าวในช่วงต้นฤดูซึ่งผลผลิตออกมาก โดยช่วยเหลือค่าดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่ใช้ในการจัดเก็บ 3% ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับจังหวัดแหล่งผลิต ประสานให้มีการพบปะเจรจาซื้อขาย ระหว่างกลุ่มชาวนากับผู้ซื้อ ซึ่งมีทั้งลานข้าว โรงสี ผู้ส่งออก ตลอดจนกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ชาวนามีความมั่นใจว่ามีช่องทางการในการจำหน่ายที่แน่นอน ได้ราคาที่น่าพอใจ อีกทั้งมีความเที่ยงตรงในเรื่องการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้น สิ่งเจือปน และเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว
หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการเอารัดเอาเปรียบในการซื้อข้าวเปลือก ทั้งในด้านการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้น หรือกดราคารับซื้อข้าวเปลือก สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งหากพบการกระทำความผิด กรมการค้าภายใน จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัดและจริงจังต่อไป
ข้อมูลข่าวจาก