“เฉลิมชัย” ดันราคายางต่อเนื่องเดินหน้า “เกษตรฯ-พาณิชย์โมเดล” ลุย 6 มาตรการเจาะตลาดจีนทุกมณฑลเปิดตลาดใหม่ เตรียมจัดงานเอ็กซ์โปยางโลกปลายปีนี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราและรักษาเสถียรภาพราคายางแถลงวันนี้ (28 ต.ค.) ว่าสถานการณ์ความต้องการยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มสูงขึ้นทำให้ราคาในประเทศและในต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นปัจจัยกลไกตลาดและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะการขับเคลื่อนโมเดล “เกษตรพาณิชย์ทันสมัย” ซึ่งเป็นความร่วมมือการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ปีที่แล้วทั้งเรื่องโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางและล่าสุดคือ 6 มาตรการปฏิรูปยางพาราตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มอลเพื่อเพิ่มราคาและสร้างเสถียรภาพราคารวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นลงทุนแปรรูปส่งเสริมวิจัยสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ใช้กลยุทธ์ใหม่การขายการตลาดเชิงรุกเจาะจีนทุกมณฑลและเปิดตลาดใหม่ๆ ในประเทศต่างๆ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.มาตรการตลาดและราคา(Market & Price) 2.มาตรการการบริหารด้านอุปทาน (Supply Side Management) 3.มาตรการการบริหารด้านอุปสงค์ (Demand Side Management) 4.มาตรการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม 5.มาตรการลดสต็อกยางพารา และ 6.มาตรการเพิ่มรายได้
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ขยายตลาดส่งออกโดยเจรจาธุรกิจทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อซื้อขายยางพาราและ ช่วงวันที่ 30 กันยายน 2563 และ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา และในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด Thailand Rubber Expo” เพื่อกระตุ้นการซื้อขายยาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ และสินค้านวัตกรรม ที่สามารถนำไปมอบเป็นของขวัญ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2564
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่าราคายางยังแรงไม่หยุด หลังปิดตลาดวันนี้ราคายางแผ่นรมควันพุ่งแตะสูงสุด 77.85 บาท/กก. ที่ตลาดกลางยางพารา จ.นครศรีธรรมราช ส่วนตลาดกลางฯ จ.สงขลา และตลาดกลางฯ จ.สุราษฎร์ธานี ราคาอยู่ที่ 77.72 บาท/กก. โดยหลังจากเปิดตลาดสัปดาห์นี้เพียง 2 วัน ราคาเพิ่มเพิ่มขึ้นกว่า 11 บาท คาดการณ์ว่าราคาสามารถพุ่งสูงต่อเนื่องแตะ 80 บาท/กก. ได้ภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ราคายางจะยังคงอยู่ในแนวบวกอย่างต่อเนื่อง และทะลุแนวต้านสูงสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยด้านอุปสงค์อุปทานและมาตรการส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งผลทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอ้างอิงได้จากปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.4 แสนตัน น้อยกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ประมาณ ร้อยละ 10 ขณะเดียวกันความต้องการยางในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าประเภทยุทธภัณฑ์ ถุงมือยาง ยางยืด โดยจีนเป็นประเทศผู้นำเข้ายางที่มากที่สุด มีการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.9 ดัชนี PMI ของจีนยังอยู่ที่ 51.50 ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัว คำสั่งซื้อยางของจีนจากต่างประเทศกลับมาฟื้นตัว การจำหน่ายรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 63 กำลังการผลิตของโรงงานผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มใช้ยางมากขึ้นด้วย เชื่อว่าราคายางยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเป็นที่น่าหวั่นใจว่า ต่อไปผลผลิตยางอาจจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของตลาดต่างประเทศ
รายละเอียดของ 6 มาตรการในการประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราและรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 3/2563 ณ ห้องประชุมรัษฎา การยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยและตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ภาคเอกชนผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราได้รับทราบถึงสถานการณ์ผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตรา 3-6% ต่อปีจากพื้นที่เพาะปลูกใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดหลังจากเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงปี 2547-2555 โดยเฉพาะผลผลิตของจีนที่ปลูกในกลุ่มประเทศ CLMV ในขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราของโลกคาดว่าจะขยายตัว 4-5% ต่อปี ส่งผลให้ยังคงมีผลผลิตยางพาราส่วนเกินเฉลี่ยกว่า 3.5-4.5 แสนตันต่อปี และจะมีผลให้ค่าคาดการณ์สต๊อกยางพาราโลกสูงกว่า 4 ล้านตันในช่วงปี 2562- 2563 ซึ่งจะกดดันให้ราคายางพาราในตลาดโลกในช่วงปี 2563-2564 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่าต่อเนื่องจากปลายปี 2561 ทั้งยังเผชิญวิกฤติโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลต่อการผลิต ตลาดและราคาทั่วโลก คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ปัญหาทั้งในเชิงโอกาสในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลกด้วยมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาทและส่งออก รถยนต์อันดับ4ของโลกส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลกจึงมีมติกำหนด 6 มาตรการ ปฏิรูปยางพาราชุดแรกเพื่อตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มอลจากผลกระทบของโควิด 19 โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ชาวสวนยางและสถาบันยางพร้อมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและแก้ไขปัญหาราคาทำให้เกิดเสถียรภาพราคายางพาราทั้งระยะสั้นและรายะยาว ตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังนี้
1. มาตรการตลาดและราคา (Market & Price) เนื่องจากตลาดซื้อขายล่วงหน้ามีอิทธิพลต่อราคาอ้างอิงในตลาดซื้อขายจริงโดยเฉพาะตลาดซื้อขายล่วงหน้า4ตลาดหลักคือตลาดเซี่ยงไฮ้ โตเกียว สิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดผู้ซื้อในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกและเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกแต่มีบทบาทน้อยมากต่อการกำหนดราคาซื้อขายยางพาราจึงเห็นควรให้เร่งศึกษาหาข้อสรุปการจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง (Physical Forward Market) ของยางพาราที่เรียกว่า “ตลาดไทยคอม” (ThaiCom) ซึ่งเป็นตลาดลูกผสมแบบ ไฮบริด (Hybrid) ระหว่างตลาดซื้อขายจริง (Spot Market) กับตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Future Market) โดยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของการยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) โดยให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่ประกอบไปด้วยผู้เขี่ยวชาญศึกษาจัดทำรายงานเสนอภายใน90วันและระหว่างนี้ให้ กยท. เสนอรายงานแนวคิดเบื้องต้น (Concept paper) เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อรับทราบแนวทางนโยบาย หากเห็นชอบในหลักการให้คณะทำงานจัดทำรายงานขั้นสุดท้ายเสนอคณะกรรมการฯเพื่อพิจารณาก่อนเสนอต่อแย่.และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
2. มาตรการการบริหารด้านอุปทาน (Supply Side Management) กำหนดให้ลดพื้นที่สวนยาง 2 ล้านไร่โดยลดพื้นที่สวนยางปีละ 2 แสนไร่เป็นเวลา10 ปีเพื่อลดปริมาณการผลิตโดยขอการสนับสนุนไร่ละ 10,000 บาทจากรัฐบาลเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน นอกจากนี้ ให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานภาครัฐเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศและมอบหมายกยท.เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราตามความต้องการของภาครัฐและตลาดทั้งในและต่างประเทศ
3. มาตรการการบริหารด้านอุปสงค์ (Demand Side Management) เร่งขยายตลาดในจีนโดยให้ขยายการค้ายางพาราให้ครอบคลุมในทุกมณฑลของประเทศจีน เพื่อเพิ่มช่องทางการขายยางพาราต่อยอดจากในอดีตที่การค้ายางกระจุกตัวอยู่ในบางมณฑลรวมทั้งการขยายตลาดหลักอื่นๆ และเปิดตลาดใหม่ๆ โดยให้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการค้ายางพารากับจีนและตลาดหลักเป็นการเร่งด่วนเพื่อกำหนดแนวทางการตลาดและการขายเชิงรุกทั้งรูปแบบการค้าออนไลน์และออฟไลน์รวมทั้งการสร้างมาตรฐานของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ยางพาราตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมยางพาราของไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า นอกจากนี้ยังมีมติให้ กยท. จัดงาน “ยางพาราเอ็กซ์โปบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเสมือนจริง (Virtual Platform) เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าและการจับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศ
4. มาตรการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเร่งส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตถุงมือยางรวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆตอบโจทย์ความต้องการใหม่ในยุคนิวนอร์มอล (New Normal) จากผลกระทบของโควิด 19 โดยเร่งเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนในรับเบอร์ซิตี้ (Rubber City) และพื้นที่ใกล้แหล่งผลิตยางพาราพร้อมกับเร่งศึกษาโครงการรับเบอร์คอมเพล็กซ์(Rubber Complex) ที่นครศรีธรรมราชและให้ กยท. จัดโครงการประกวดนวัตกรรมการแปรรูปยางโดยเชื่อมโยงกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับชาวสวนยางและสถาบันยาง
5. มาตรการลดสต็อกยางพาราให้ กยท. เสนอแนวทางการบริหารจัดการสต็อกยางพาราที่คงค้างกว่า 1 แสนตัน โดยให้เสนอต่อคณะกรรมการในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 9 กรกฎาคมทั้งนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบด้านราคา
6. มาตรการเพิ่มรายได้มอบหมายให้ กยท. ขยายการส่งเสริมเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวสวนยางซี่งเดิมพึ่งพารายได้จากยางพาราเพียงด้านเดียวและส่งเสริมการปลูกพืชที่มีอนาคตด้านตลาดและไม้เศรษฐกิจเพื่อทดแทนสวนยางพาราที่ถึงกำหนดต้องตัดทิ้งตามนโยบายลดพื้นที่สวนยางพารา