รัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังนี้
กระทรวงอุตสาหกรรมออก 7 มาตรการ เยียวยาผู้ประกอบการประสบอุทกภัยทุกกลุ่ม ทุกมิติ เน้นทำทันที ซ่อม-สร้าง–ฟื้นฟู ผู้ประกอบการทุกพื้นที่หลังน้ำลด พร้อมส่งทีมเฉพาะกิจเข้าซ่อมแซมเครื่องจักรโรงงาน กิจการ SME ฟื้นฟูสถานประกอบการให้กลับมาดำเนินกิจการโดยเร็วที่สุด พร้อมช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดดอกเบี้ย ปล่อยกู้วิสาหกิจประสบภัย ยกเว้นค่าธรรมเนียมเครื่องจักร
ธ.ก.ส. จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อน จำเป็นในครัวเรือนและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะ 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้นหากเกษตรกรผู้ประสบความเดือดร้อนสามารถติดต่อ ธ.ก.ส. ในพื้นที่เพื่อขอรับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้ทันทีหรือที่ Call Center 02-5550555
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ โดยจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา กรณีพื้นที่ดำเนินการเพาะปลูกมีพืชตาย หรือเสียหายสิ้นเชิง ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งกำหนดให้นาข้าวได้รับอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้รับอัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ได้รับอัตราไร่ละ 1,690 บาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันเกิดภัย จนถึงการอนุมัติงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือและเบิกจ่ายเงินทดลองราชการแก่เกษตรกร