ตัวแทนครูทั่วประเทศกว่า 200 คน บุกยื่นกองปราบปราม , ป.ป.ท., ดีเอสไอ, ก.ศึกษาฯ และ ป.ป.ง. ให้สอบสวนเอาผิด สกสค.-ธ.ออมสินและบริษัทประกันภัย ลากไส้คนบาปฉ้อโกงหากินกับเบี้ยประกันบนกองหนี้ครูกว่า 7 แสนล้าน
วันที่ ( 27 ก.ย.) นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ประสานงานกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ เปิดเผยว่า วันนี้ ตัวแทนครูราว 200 คน นำโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสำคัญ จงโกเย็น นายชุบ ไชยฤทธิชัย นายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์ นายกิตติศักดิ์ อินทรกำแหง ณ ราชสีมาและ ตน นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ในนาม “กลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์” ได้พากันไปยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ของครูผู้เป็นหนี้ ซึ่งลงลายมือชื่อจำนวนกว่า 500 คน ต่อ 5 หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กองปราบปราม, ป.ป.ท., ดีเอสไอ, กระทรวงศึกษาธิการ และ ป.ป.ง.
เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่กับ สำนักงานสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ธนาคารออมสิน และ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรและพนักงานของรัฐ ในกรณีส่อว่าน่าจะฉ้อโกงประชาชนในประเด็นการประกันภัยที่มีพิรุธ หลายประเด็น
เช่น พฤติการณ์อันส่อทุจริตบังคับครูเป็นแสนคนเสียเงินเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปีในราคาแพงโดยไม่มีสิทธิล่วงรู้ได้ และครูไม่ได้รับกรมธรรม์เลย บางบริษัทยังขายประกันชีวิตแล้วยกเว้นไม่จ่ายสินไหมกรณีตายด้วยอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างไปจากแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ การไม่คืนเบี้ยประกันให้ครูผู้กู้ทุกปีแต่ประกันล่วงหน้าคราวละ 9 ปี การให้ธนาคารออมสินส่งรายได้จากเงินหนี้ครูเข้ากองทุนเพื่อสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ว ช.พ.ค.ฯ ได้เป็นหมื่นล้านบาท และการร้องทุกข์การส่อทุจริตของ สกสค. อีกมาก ที่เกี่ยวข้องกันหนี้ครู
ทำให้ครูภาคอีสานภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ได้มาขอความช่วยเหลือจาก “กลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์” จากนั้นมีการประชุมร่วมไปแล้วหลายครั้ง จนสามารถสรุปได้ข้อสรุปเพื่อดำเนินการดังกล่าว
นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ กล่าวว่า เราใช้เวลา มากกว่า 9 เดือนในการศึกษาข้อมูลเรื่องหนี้สินของครูถึง 7 แสนคน ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 7 แสนล้านบาท มันมีประเด็นที่ควรให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบพฤติการณ์ของบริษัทประกันภัย ของรัฐในประเด็นเงื่อนงำทั้งหลายว่า 3 หน่วยงานนี้ส่อว่าน่าจะสมคบคิดกันหรือไม่ในการทำมาหากินกับหนี้ของครูก้อนมหึมานี้ พฤติการณ์ที่ได้รับข้อมูลมาจากครูผู้ร่วมโครงการหลายรายหลายพื้นที่ สรุปได้ว่า พฤติกรรมของ เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน จากข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า มีพฤติการณ์ส่อว่าเป็นการฉ้อฉล เข้าข่ายความผิดฉ้อโกงประชาชน การบริหารโครงการภายใต้การสร้างความชอบธรรมโดยอ้างความเดือดร้อนของครูเป็นหลัก แต่มีเจตนาแอบแฝงเพื่อร่วมกันทำการทุจริตจากเงินเบี้ยประกันที่หักไป ล่วงหน้าทั้งก้อน อ้างว่า เพื่อประกันสัญญาเงินกู้ โดยครูซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องจำยอมทุกราย
ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมด้วยกันทุกฝ่ายจึงยื่นเรื่องร้องทุกข์ให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเคยเป็นครูมาก่อน รับรู้ได้เลยว่า ครูผู้เป็นหนี้ในโครงการ ช.พ.ค. ของ สกสค. กู้จากออมสินรายละ 6 แสนถึงรายละ 3 ล้านบาท แทบไม่มีอนาคตอยู่แล้ว ยิ่งมาดูเงื่อนงำที่เป็นพิรุธ 3 หน่วยงานของรัฐที่อาจออกแบบวางแผนร่วมกันบีบบังคับให้ครูต้องซื้อประกันฯ ในอัตราที่สูงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับการประกันฯ จากบริษัทอื่นๆ และยังหักเงินกู้ของครูไปในกิจกรรมทำมาหากินกับครูทั้งสิ้น เรียกได้ว่า เป็นการทำนาบนหลังครูเลยทีเดียว ถ้าได้นำคดีขึ้นสู่ศาลทุจริตกลาง ก็จะรู้ว่าเป็นขั้นมหากาพย์เลยทีเดียว เราต้องการทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติหมายความว่าหนี้ทุกกลุ่มย่อมได้ประโยชน์เท่าๆ กัน เหมือนกับการยึดคืนโฉนดจากนายทุนให้ชาวบ้านที่กู้เงินนอกระบบของรัฐบาลชุดนี้
นายชุบ ไชยฤทธิชัย ทนายความกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องหนี้ครูเป็นความร่วมมือกันออกแบบวางแผนอาชญากรรมที่ทำลายความมั่นคงของอาชีพครูและทำลายความมั่นคงแห่งรัฐ โดยมีเงินเบี้ยประกันฯ เป็นต้นเหตุหรือใจกลางของการทุจริตที่ส่อว่า มีการกระทำผิดกฎหมายอาญาหลายมาตรา ลักษณะฉ้อโกงประชาชนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีใครบ้าง จึงจำเป็นต้องใช้องค์กรของรัฐเข้าทำการตรวจสอบและประชาชนสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 41(2) และ(3) อีกไม่นานนักเราจะสามารถกระชากหน้ากากปิศาจในคราบนักบุญหากินกับครูทั่วประเทศ
นายสำคัญ จงโกเย็น ครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษานครราชสีมา ( สพป.นม.) เขต 5 กล่าวว่า ตนกู้เงิน 1.2 ล้านบาท การกู้เงินโครงการดังกล่าวซ่อนเร้นอำพรางเรื่องหักเอาเงินเบี้ยประกันหนี้ไว้ล่วงหน้า 9 ปี โดยการบริหารกองทุน ช.พ.ค.ของ สกสค. กลับทุจริตมีการนำเงินดังกล่าวจำนวน 2,000 กว่าล้านบาทไปลงทุนในโครงการโซลาร์เซลล์ และอื่นๆ จำนวนมาก โดยผิดวิธีผิดระเบียบและข้อกฎหมายกำหนด ควรให้ผู้เสียหายเข้าชื่อร้องทุกข์ต่อหน่วยงานปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของรัฐต่อไป
ข้อมูลข่าวจาก