หลังจากเปิดตัวโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพกับประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 11.4 ล้านคนไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560
ตามเงื่อนไขโครงการนั้น ประชาชนที่ลงทะเบียนจะได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่สามารถนำไปรูดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เดือนละ 200 บาท สำหรับผู้มีรายได้เกินเดือนละ 30,000 บาท และเดือนละ 300 บาท สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท และได้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน, ค่าโดยสารรถเดือนละ 500 บาท, ค่าโดยสารรถไฟเดือนละ 500 บาทด้วย
โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อร้านค้าปลีกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ส่งไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) และเชื่อมโยงกับธนาคารกรุงไทย โดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งจนถึงขณะนี้มีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 17,000 แห่ง ซึ่งสามารถติดเครื่อง EDC แล้ว 5,700 แห่ง แต่มีเป้าหมายว่าจะให้ได้ครบ 20,000 แห่ง พร้อมทั้งได้จัดรถให้บริการเคลื่อนที่หรือโมบายยูนิตเข้าไปเสริมในพื้นที่ที่ยังไม่มีร้านค้าติดตั้งเครื่อง EDC ด้วย
ส่วนผู้ผลิตสินค้าหรือซัพพลายเออร์ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องสมัครกับกรมการค้าภายในเช่นเดียวกัน “โชห่วย” ฉวยโอกาส
หากมองผิวเผินโครงการนี้ไม่ต่างจากโครงการในรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา เช่น โครงการเช็คช่วยชาติ ที่รัฐจ่ายงบประมาณให้ความช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระค่าครองชีพ โดยจำกัดวงเงินต่อคน เพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อกลไกตลาดในการดำเนินธุรกิจปกติ ทั้งในส่วนของผู้ผลิตสินค้า ร้านค้าส่ง และร้านค้าปลีก
แต่เสียงสะท้อนใน “มุมลบ” ปรากฏมากขึ้น ทั้งจากปัญหาความไม่สมบูรณ์ของโครงการ การติดตั้งเครื่อง EDC ยังไม่ทั่วถึง ร้านค้าปลีกหลายพื้นที่ไม่กล้าสมัครเข้าร่วม เพราะกลัวโดนไล่บี้ภาษีเงินได้ย้อนหลัง และต้องเสียค่าบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 100 บาทต่อเดือน
เมื่อจำนวนร้านธงฟ้าประชารัฐไม่ทั่วถึง จึงเกิดปัญหาตามมา คือ ร้านธงฟ้าประชารัฐในบางพื้นที่ ฉวยโอกาส “ปรับราคา” สินค้าทางอ้อม เช่น น้ำปลา ขนาด 500 มล. ราคาขวดละ 17 บาท ขายขวดละ 25 บาท น้ำตาลทรายขาว กก.ละ 23.50 บาท ขาย กก.ละ 30 บาท น้ำยาล้างจาน จากขวดละ 10 บาท ขาย 20 บาท และบางร้านที่ยังไม่ได้รับการติดตั้งเครื่อง EDC มีการยึดบัตรคนจนจากชาวบ้านไว้ก่อน เพื่อแลกกับการซื้อสินค้าด้วย
ซัพพลายเออร์รายเล็กถอดใจ
ขณะที่เสียงสะท้อนจากผู้ผลิตสินค้าซัพพลายเออร์รายย่อย มองว่า ร้านโชห่วยเป็นช่องทางจำหน่ายหลักของซัพพลายเออร์รายย่อย แต่ซัพพลายเออร์รายย่อยกลับไม่ค่อยสมัครเข้าร่วม โครงการ เพราะเกิดปัญหาลักลั่นในระบบ กล่าวคือ ซัพพลายเออร์ต้องส่งสินค้าขายให้กับร้านโชห่วยโดยตรงและรับเงินค่าสินค้า แต่หากต้องการขายให้ร้านค้าที่ให้บริการบัตรคนจน จะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ กับกรมการค้าภายใน ซึ่งผันมาเป็นตัวกลางในระบบ ทำให้เกิดปัญหาว่าสินค้าชนิดเดียวกันต้องขาย 2 ระบบยุ่งยากซับซ้อน จึงมีเพียงซัพพลายเออร์รายใหญ่ หรือบางคน
เรียก “กลุ่มเจ้าสัว” ซึ่งมีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามว่า “ความบิดเบี้ยว” ของการดำเนินโครงการลักษณะนี้ กลายเป็นการเปิดช่องให้กับซัพพลายเออร์รายใหญ่หาประโยชน์หรือไม่ ?
คนจนอุ้มเจ้าสัว
การแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลว่า “คนอนาถาของแผ่นดิน 14 ล้านคน ช่วยกันอุ้มเจ้าสัวใหญ่ ๆ ได้อย่างไร ?” โดยคิดคำนวณหากคนจน 14 ล้านคน ซื้อของจากโครงการ 300 บาทต่อคนต่อเดือนจะมีเงินเข้ากระเป๋าเจ้าสัว 4,200 ล้านบาท ถ้ารูดบัตร 12 เดือนเงินเข้ากระเป๋าเจ้าสัว 50,400 ล้านบาท ซึ่งไม่ต่างจากกระบวนการโยกเงินงบประมาณออกกระเป๋ารัฐ เข้าสู่กระเป๋าเอกชนเหล่านี้
อีกด้านอาจแย้งว่าซัพพลายเออร์รายใหญ่ไม่จำเป็นต้องขายผ่านช่องทางนี้ก็ได้ เพราะสามารถขายผ่านโมเดิร์นเทรดปกติอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าการขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดปกติ ซัพพลายเออร์ต้องจ่ายค่าบริการค่าธรรมเนียมในการวางขายสินค้า (ค่าฟี) ให้กับโมเดิร์นเทรด แต่โครงการนี้เปรียบเสมือนสร้างโชห่วยแบบใหม่ขึ้นมากแข่งกับโมเดิร์นเทรด ซึ่งเข้าถึงชุมชน และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม แถมยังได้ภาพลักษณ์ที่ดีจากการขายสินค้าช่วยรัฐอีก
ถือเป็นสุดยอดกลยุทธ์ “ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว” คือ ผู้ผลิตได้ขาย- ประชาชนได้ของ-รัฐบาลจ่ายเงินงบประมาณ และเอาคืนค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ส่วนซัพพลายเออร์ขนาดกลางและเล็กที่เคยขายในโชห่วย ก็ต้องรับสภาพไปจนกว่าโครงการจะสิ้นสุด
“พาณิชย์” โต้ไม่อุ้มเจ้าสัว
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ชี้แจงว่า ประชาชนผู้ถือบัตร สามารถเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าประชารัฐ ได้ทุกชนิดทุกยี่ห้อของผู้ผลิตทุกราย ตั้งแต่รายใหญ่ไปถึง OTOP SMEs และ ผู้ผลิตในชุมชน สหกรณ์วิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมแล้ว 24 ราย 40 สินค้า 318 รายการ จำหน่ายราคาถูกกว่าราคาตลาด 10-20% เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการลดค่าครองชีพ และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่รายใหญ่แต่อย่างใด
ที่มา:ประชาชาติ