นครพนม-ทหารระดมกำลังเร่งอพยพสัตว์เลี้ยง ข้าวของของชาวบ้านขึ้นเก็บที่สูง หนีลำน้ำก่ำทะลักท่วมบ้านปากบัง ผู้ใหญ่บ้านเผยทนทุกข์มานานกว่า 30 ปี ท่วมซ้ำซาก เสนอภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไข
วันนี้(31 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ขณะนี้ยังต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ บ้านปากบัง ต.พิมาน ซึ่งเป็นจุดรับน้ำจากลำน้ำบัง มาบรรจบกับลำน้ำก่ำ ลำน้ำสาขาสายหลักที่รับน้ำมาจากหนองหาร จ.สกลนคร ก่อนไหลยาวเป็นระยะทางยาวกว่า 120 กม.ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ในพื้นที่ อ.ธาตุพนม
แต่ช่วงนี้ปริมาณน้ำหนองหารเต็มความจุ เริ่มทะลักลงลำน้ำก่ำ บวกกับระดับน้ำโขงสูงใกล้จุดวิกฤติระดับน้ำเกือบ 12 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติ ประมาณ 1 เมตร คือ ที่ 13 เมตร ทำให้ลำน้ำสาขาไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขงได้ ทำให้น้ำทะลักเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนของชาวบ้าน ในพื้นที่บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมหนักทุกปี
โดยปีที่ผ่านมาถูกน้ำท่วมขัง กลายเป็นเกาะนานกว่า 1 เดือน ส่วนในปีนี้เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว กว่า 50 หลังคาเรือน จากบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดกว่า 200 หลังคาเรือน ซึ่งระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังโชคดีฝนเริ่มหยุดตก แต่ยังมีมวลน้ำจากลำน้ำสาขาสายหลัก ไหลมาสมทบต่อเนื่อง ต้องเตรียมพร้อมรับมือ
หมู่บ้านแห่งนี้เคยเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องมาวางแผนป้องกันแก้ไข แต่ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ
ล่าสุดทางด้าน นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ได้ประสานงาน ร่วมกับ พ.อ.ชวลิต พบจันอัด ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 อ.นาแก สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้ระดมเจ้าหน้าที่ทหาร นำเครื่องจักร อุปกรณ์ช่วยเหลือ เรือท้องแบน ร่วมกับ กำลังทหาร จาก มทบ.210 นครพนม ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ลงพื้นที่ ช่วยเหลือ เร่งอพยพ เคลื่อนย้าย สิ่งของ
รวมถึง สัตว์เลี้ยง โค กระบือ ขึ้นที่สูง ป้องกันน้ำเอ่อท่วมสูง ซึ่งหากยังมีฝนตกในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักน้ำท่วมขัง ทั้งหมู่บ้าน
ด้าน นายคำฟอง พ่ออามาตย์ อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านปากบัง หมู่ 2 ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า ปีนี้ บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก ต้องทนทุกข์กับปัญหาน้ำท่วมอีก ถึงแม้ฝนจะเริ่มหยุดตก แต่มวลน้ำยังเหลืออีกจำนวนมาก ที่ล้นมาจากหนองหาร จ.สกลนคร ไหลลงมาตามลำน้ำก่ำ มาบรรจบกับลำน้ำบัง ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ทำให้พื้นที่หมู่บ้านปากบังกลายเป็นที่รับน้ำ และท่วมขังมาทุกปี
“แต่ก่อนนี้ไม่ได้รับผลกระทบหนัก เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ บวกกับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างระบบชลประทาน ทำให้ทิศทางน้ำเปลี่ยน ยิ่งปีนี้น่าห่วง น้ำมาเร็ว และลดช้า ต้องเตรียมพร้อมเร่งขนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง เพราะปีที่แล้วเจอปัญหาหนักมาแล้ว ยอมรับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวบ้าน”นายคำฟองกล่าวและว่า
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ที่ผ่านมาได้เสนอผ่านหน่วยงานอำเภอ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ไปยังจังหวัด หาทางแก้ไข ในการสร้างถนนเป็นคันคูกั้นน้ำ จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข เพราะมีปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้าง หาผู้รับจ้าง ล่าช้า ทั้งที่มีการอนุมัติงบประมาณแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลมาดูแลแก้ไข ชาวบ้านปากบังยังรอความหวัง ไม่ต้องการแค่รับการช่วยเหลือเพียง ข้าวสารอาหารแห้ง เพราะเป็นการแก้ปลายเหตุ
รายละเอียดข้อมูลข่าวเพิ่มเติมจาก