นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้น้ำภาคการเกษตรยังมีประสิทธิภาพต่ำมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้น้ำกันอย่างไม่ระมัดระวังเพราะไม่มีราคา จึงทำให้น้ำจำนวนมากในระบบต้องสูญเสียไป ทั้งนี้ ถ้านำน้ำไปสนับสนุนในการปลูกในพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น อ้อย ลำไย เป็นต้น จะทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพและรายได้เกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ
ภาคการเกษตรมีการใช้น้ำมากที่สุดถึง 70-80% หรือ ประมาณ 130,000 ลูกบาก์ศเมตร (ลบ.ม.) ของปริมาณทั้งประเทศ ถ้าสามารถโอนน้ำมาเพียง 2-3% เพื่อใช้นอกการเกษตร ขยายการบริการเขตน้ำประปาในเขตชุมชนที่ยังไม่มีน้ำประปาเพียงพอ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น รวมทั้งยังลดการสูบน้ำจากใต้ดินซึ่งทำให้เกิดปัญหาดินทรุดได้ส่วนการนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคและท่องเที่ยว ใช้น้ำไม่มากแต่มีประสิทธิภาพด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
ปัจจุบันรัฐมีนโยบายการจัดการความต้องการใช้น้ำ เพื่อต้องการลดการใช้น้ำกิจกรรมที่สิ้นเปลือง โดยราคาต้นทุนในการจัดสรรน้ำอยู่ที่ 1.25 บาท หากขึ้นค่าน้ำคนกรุงเทพฯ ประมาณ 10% คาดว่าจะทำให้คนอยู่ในกรุงเทพฯ ลดการใช้น้ำลงได้ 13-14% และจะสามารถนำน้ำที่เหลือไปใช้ในภาคอื่นๆ ที่ต้องการขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น
“ไทยแต่ละปีปลูกข้าวประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก และมีการบริโภคเพียงครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ซึ่งผมมองว่าเป็นการอุดหนุนค่าน้ำให้ผู้บริโภคต่างประเทศ ดังนั้นในอนาคตต้องออกแบบให้ส่งน้ำเพื่อปลูกพืชอื่นๆ ได้ โดยใช้เทคโนโลยีและคนที่จะใช้น้ำในอนาคตจะต้องเสียเงินเพื่อแลกกับสิ่งที่ดีขึ้น โดยกรมชลฯ ก็ต้องให้ความมั่นใจระบบชลประทานกับผู้ใช้น้ำด้วย”
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง 2485 หลังประกาศเขตชลประทานตามมาตรา ของ พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้จัดเก็บค่าใช้น้ำตามมาตรา 8 จากภาคเกษตรไม่เกิน 5 บาทต่อไร่ต่อปี และประปาและอุตสาหกรรม เก็บค่าชลประทานไม่เกิน 0.50 บาทต่อลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้กรมชลประทานสามารถประกาศเขตได้ 7,500 เขต แต่มีการจัดเก็บค่าใช้น้ำได้เพียง 362 ราย วงเงิน 798 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ใช้น้ำไปถึง 1,596 ล้านลบ.ม.
ภาคการเกษตรไม่มีการเก็บค่าชลประทานเลย เนื่องจากรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงกลัวเเรงต้านจากเกษตรกร ส่วนการประปามีการจัดเก็บค่าใช้น้ำเพียง 0.50 บาทต่อลบ.ม. ประปาบางแห่งยังพบว่าไม่มีการจ่ายจริงหรือจ่ายไม่เต็ม เช่น การประปานครหลวง จ่ายค่าน้ำเฉพาะน้ำดิบจากเขื่อนแม่กลองเมื่อเฉลี่ยปริมาณน้ำทั้งหมดจะคิดเป็น 0.15 บาทต่อลบ.ม. ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีการเก็บค่าชลประทานที่ 0.50 บาทต่อลบ.ม.บางแห่งแต่ยังเก็บไม่ครบ มีการสูบน้ำฟรีจำนวนมากเพราะยังไม่ได้สำรวจจริงจัง
ดังนั้น หากกรมชลประทานยึดบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสูงสุดตามพ.ร.บ. 2548 อย่างเข้มงวด จะทำให้มีรายได้จากการใช้น้ำประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี และหากมีการปรับระบบการส่งน้ำส่งน้ำชลประทานใหม่ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มการใช้น้ำ และปรับขึ้นค่าใช้น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จะช่วยลดภาระของภาครัฐได้ ถึง 8,109-13,775 ล้านบาทต่อปี เงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าน้ำ ต้องแบ่งเข้ากองทุนเพื่อปรับปรุงระบบชลประทาน การใช้น้ำลดลง รองรับอนาคตที่จะเกิดภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำลดลง
รายละเอียดข้อมูลข่าวจาก