ชาวบ้านหัวช้าง ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ร่วมมือกันคัดแยกและจัดการปัญหาขยะทุกครัวเรือน จนกลายเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะแบบยั่งยืน ลดรายจ่ายและสร้างรายได้จากขยะ
บ้านหัวช้าง หมู่ 12 ตำบลยางน้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม จากหนึ่งในชุมชน ที่เคยมีปัญหาการบริหารจัดการขยะ แต่ปัจจุบันกลายมาเป็นหมู่บ้านต้นแบบการบริหารจัดการขยะ ได้เป็นตัวแทนจังหวัดมหาสารคาม เข้าประกวดหมู่บ้านปลอดขยะระดับภาค เพื่อเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับประเทศ ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากความใส่จริงจังจากชาวบ้านทุกครัวเรือน การสนับสนุนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมหาสารคาม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายบุดดี แพนศรี กำนัน ต.ยางน้อย บอกว่า ชาวบ้านที่นี่ให้ความร่วมมือดีมาก ทุกบ้านจะมีถุงปุ๋ยเก่าสำหรับใช้คัดแยกขยะเพื่อรอนำมาขายให้กับธนาคารขยะ ที่เปิดรับซื้อเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งชมชนเริ่มดำเนินกาเริ่มดำเนินการมา 2 – 3 ปีแล้ว บางคนมีเงินฝากในธนาคารขยะนับหมื่นบาท ส่วนขยะอาหารที่รับประทานไม่หมด ทาง อบต.ยางน้อย ได้ให้อ่างปูนครัวเรือนละ 1 อ่าง ใช้ใส่เศษอาหารต่างเอาไว้หมักเป็นปุ๋ย หรือเศษพืชผักต่างๆก็นำไปให้แพะที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้กินได้หมด
การบริหารจัดการขยะของชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะในครัวเรือน นำมาขายให้กับธนาคารขยะรีไซเคิลทุกเดือน ส่วนขยะเศษอาหาร นำไปหมักเป็นปุ๋ย และน้ำหมักชีวภาพ ใช้ใส่ในแปลงพืชผักสวนครัวซึ่งมีอยู่ทุกครัวเรือน และใส่ในนาข้าว ให้ผลผลิตดีมีคุณภาพ นอกจากนี้น้ำหมักชีวภาพยังใช้ปรับสภาพน้ำและเป็นอาหารให้พันธุ์ปลาที่ชาวบ้านเพาะพันธุ์ขาย ดังนั้นขยะที่จะทิ้งออกมาจากครัวเรือนจึงมีปริมาณน้อยมาก
นายชูศักดิ์ หล่มศรี นายก อบต.ยางน้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางน้อย เปิดเผยว่า อบต.ยางน้อย มีชุมชน 14 ชุมชน มีรถเก็บขยะเพียง 1 คัน ก่อนหน้านี้ อบต.จัดเก็บขยะด้วยความยากลำบาก เมื่อรถขยะเสียต้องใช้เวลาซ่อมบางครั้งนานเกือบเดือน มีชาวบ้านโทรเข้ามาร้องเรียนจำนวนมากเรื่องขยะที่สะสมอยู่ตามถังขยะและที่ทิ้งไว้รอเก็บหน้าบ้าน จนสร้างความปวดหัวให้กับตนเอง และยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับบ่อกำจัดขยะที่นำไปทิ้งเดือนละเกือบ 25,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทาง อบต.จึงต้องมาทำนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่งเสริมให้ทั้ง 14 ชุมชน จัดตั้งธนาคารขยะและรู้จักการคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน แต่หลังจากมาส่งเสริมให้ทุกชุมชนช่วยจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ปริมาณขยะก็ลดลงไปกว่าครึ่ง
นางศิริวรรณา เดชวิถี ประธานกรรมการคัดเลือกหมู่บ้านปลอดขยะ สสภ.ภาค 10 กล่าวว่า เศษอาหารที่ทุกครัวเรือนเหลือทิ้ง ถ้าเอาไปทิ้งถังขยะก็จะเป็นภาระกับท้องถิ่นที่จะต้องเอาไปกำจัด ซึ่งเศษอาหารต่างๆถือว่ามีจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของขยะทั้งหมดที่มีการทิ้งในแต่ละวัน ถ้าทุกครัวเรือนคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะที่ย่อยสลายได้แล้วอาไปใช้ประโยชน์ เช่น นำไปหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือทำน้ำหมักชีวภาพ นำไปใส่ในไร่นาบำรุงพืชผลผลิตได้ผลดีและลดการใช้สารเคมีด้วย
ปัจจุบัน บ้านหัวช้าง นอกจากเป็นต้นแบบบริหารจัดการขยะแล้ว ยังเป็นแรงบัลดาลใจให้กับอีกหลายชุมชน เพราะความพร้อมใจกันจัดการขยะทุกหลังคาเรือน ไม่เพียงทำให้ปัญหาขยะหมดไป แต่รายจ่ายค่าปุ๋ยและสารเคมีก็ลดลง ผลผลิตปลอดภัย มีคุณภาพ และรายได้ก็เพิ่มขึ้นจากเงินฝากในธนาคารขยะอีกด้วย
ข่าวจาก…ชัยชนะ แดงทองคำ…ส.ปชส.มหาสารคาม/รายงาน