คอลัมน์ ดุลยธรรม
โดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ Anusorn4reform@Gmail.com
อาจจะออกตัวแรงไปบ้างกับประเด็นปัญหาเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาท อัตราเดียวทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่ ผมเห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการบริโภคให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น รวมทั้งลดปัญหาคนยากจนในเมืองใหญ่
โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำของภาคแรงงานใน 8 จังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้างเลยตามข้อเสนอไตรภาคีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จังหวัดเหล่านี้ควรได้รับการปรับเพิ่ม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของภาคแรงงาน
นอกจากนี้แล้ว ขอเสนอให้ศึกษาวิจัยค่าแรงขั้นต่ำควรแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานต่างด้าว และค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานไทย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของแรงงานทักษะต่ำได้อย่างสอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ
การเสนอให้ใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานอัตราเดียวทั่วประเทศนั้น ในเบื้องต้นต้องทำให้เกิดผลจริงก่อนแล้ว จึงปรับเพิ่มจากฐานดังกล่าวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ร่วมกับการใช้ยุทธศาสตร์ของประเทศกำหนดตามความเหมาะสม เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยพิจารณาปัจจัยการเคลื่อนย้ายถิ่นของประชากร การลดความแออัดในกรุงเทพฯและหัวเมืองเศรษฐกิจ
ส่วนระบบค่าจ้างทั่วไปให้พิจารณาตามความสามารถและผลิตภาพ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีระบบการกำหนดค่าจ้างตามฝีมือแรงงานแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดี การที่คณะกรรมการค่าจ้างนำเอาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 10 รายการ เป็นมาตรฐานที่ดี และทำให้สามารถปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำได้อย่างเหมาะสม เกิดความสมดุลระหว่าง “ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” และ “ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและของสถานประกอบการ” มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้างเลย 8 จังหวัดตามข้อเสนอไตรภาคีเมื่อต้นปี ควรได้รับการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มจากการใช้ระบบอัตราเดียวทั่วประเทศ หากไม่ปรับเพิ่มจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำมาก ผมจึงเสนอให้ศึกษาวิจัย ค่าแรงขั้นต่ำ (คนละส่วนกับระบบค่าจ้างทั่วไป) ควรมีสองระบบหรือไม่ ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานต่างด้าว และค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานไทย เพื่อประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของแรงงานทักษะต่ำได้อย่างสอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ
อุปสรรคต่อการลงทุนของไทยเวลานี้ส่วนหนึ่ง คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือและช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ควรไปศึกษาว่าการเปิดเสรีแรงงานในบางสาขาเพิ่มเติมในบางช่วงเวลา ควรทำหรือไม่
ผลิตภาพแรงงานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันของไทย ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นมากสุดในกิจการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเงิน ยานยนต์ พลังงาน ค้าปลีก บริการทางการแพทย์ ขณะที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้าง กิจการการศึกษาบางส่วน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการบางส่วน รัฐควรมียุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ เพื่อสร้างนวัตกรรมและยกระดับผลิตภาพของแรงงานและทุน
ปัญหาที่พบอีกประการหนึ่งขณะนี้ คือ คุณภาพแรงงานไม่ตรงความต้องการของตลาดจ้างงาน ซึ่งสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย
ความพยายามของกระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ในการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะหากไม่ดำเนินการจะเกิดปัญหาต่อความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคม ขณะที่ค่าใช้จ่าย
ด้านสวัสดิการโดยเฉพาะสวัสดิการหลังเกษียณเพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดด ตามโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ International Labour Organization (ILO) หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เคยศึกษาว่า หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการแก้ไขสถานะของกองทุน ภายในปี 2597 เงินกองทุนประกันสังคมจะไม่เพียงพอต่อการจ่ายให้แก่สมาชิก แต่หากแก้ไขในประเด็นใหญ่ดังกล่าว จะทำให้สถานะเงินกองทุนสามารถยืนอยู่ได้จนถึงปี 2597
ผมจึงขอสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมของกระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน สนับสนุนให้มีการจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เปิดช่องให้มีการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุนสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น ส่วนการยืดเวลาการรับผลประโยชน์ทางด้านบำนาญ (การยืดอายุการเกษียณ) ควรจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เท่าที่มีข้อมูลแนวทางของการแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนประกันสังคม ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.แก้ไขอายุการเกษียณของสมาชิก จากปัจจุบันที่กองทุนประกันสังคมกำหนดอายุเกษียณที่จะทำให้สมาชิกได้รับเงินบำนาญรายเดือนไว้ที่อายุ 55 ปี จะต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 ปี โดยเป็นการทยอยปรับขึ้น กล่าวคือจะปรับอายุเกษียณเพิ่มขึ้น 1 ปี
ในทุก ๆ 5 ปี จนกระทั่งครบ 60 ปี 2.การเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุน 3.การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมในประเด็นเรื่องการลงทุนของกองทุน ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้กองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 40% โดยกระบวนการปรับแก้ไขควรมีการทำประชาพิจารณ์ และให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สมาชิกกองทุนประกันสังคม เจ้าของกิจการ นายจ้าง นักวิชาการ องค์กรแรงงาน
ในปัจจุบัน กองทุนประกันสังคมมีเงินในกองทุนรวมกันราว 1.4 ล้านล้านบาท แต่เงินกองทุนลดลงอย่างรวดเร็วมาหลายปีแล้ว และมีแนวโน้มลดลงในอัตราเร่งภายใต้โครงสร้างประชากรปัจจุบันและอนาคต
กลุ่มคนในยุคเด็กเกิดมาก baby boom ทยอยเกษียณอายุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้สมาชิกกองทุนประกันสังคมรวมกันราว 12 ล้านคน โดย 90% ของเงินทุน เป็นเงินกองทุนเพื่อชราภาพ ควรมีการศึกษาวิจัยด้วยว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก จะร่วมจ่ายเพิ่มเติมในกองทุนประกันสังคมอย่างไร เนื่องจากแรงงานต่างด้าวได้เข้ามาใช้บริการพื้นฐานของรัฐไทยมาก และเป็นภาระทางการคลังของรัฐไทยสูงมาก และสูงขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ควรเตรียมรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ระบบเทคโนโลยีการผลิต ระบบหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ ที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยต้องมีระบบการศึกษาและฝึกทักษะสำหรับแรงงานในระบบการผลิตแบบใหม่ภายใต้เศรษฐกิจแบบดิจิทัล และต้องเตรียมรับมือกับการว่างงานของผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษ ว่าจะเอาคนเหล่านี้ไปทำอะไรโดยจำเป็นต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมและแบ่งปันกันมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยกลไกทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
ข่าวจาก: ประชาชาติ