มนุษย์เราเนี่ย โดยเฉพาะคนไทย น้อยนักน้อยหนาหรือเกือบจะไม่มีเลยก็ได้ที่จะไม่เคยเป็นหนี้ อย่งน้อยก็คงเคยหยิบยืมกันบ้างแหละน่า… แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา(ในตอนนั้น) แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้นอกระบบ!! ที่มันส่งผลให้คนบางถึงขั้นทำลายชีวิตและครอบครัวกันมานักต่อนัก ดังนั้น วันนี้กระติบนิวส์เลยนำบทความดีๆ เป็นประโยชน์มาให้ความรู้ทางการเงินกัน โดยเฉพาะใครที่กำลังเป็นหนี้ ไม่เฉพาะหนี้นอกระบบเท่าแต่ยังสามารถนำไปใช้กับหนี้ในระบบได้อีกด้วย ขอเพียงมีความตั้งใจและแน่วแน่ในการปลดหนี้ของคุณ
อันดับแรกมารู้จักหนี้นอกระบบกันก่อนเลย
“หนี้นอกระบบ” หมายถึง หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินกันเองในระหว่างประชาชนโดยไม่ได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สะดวกและสามารถหาแหล่งเงินได้โดยง่าย ซึ่งต่างจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่มีหลักเกณฑ์การกู้ที่ยุ่งยาก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบจะอยู่ที่ร้อยละ 5-20 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 60-240 ต่อปี ในขณะที่หากกู้กับสถาบันการเงินดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 28 ต่อปี
คนมักกู้นอกระบบไปทำอะไร
“เงินสดทันใจ ได้ชัวร์ อนุมัติไว” หนึ่งในโฆษณาของเงินกู้นอกระบบที่ทำให้คนหลงเชื่อตกหลุมพลางมานักต่อนักแล้ว เหตุผลต่างๆ ที่คนมักกู้นอกระบบคือ เพื่ออุปโภคบริโภค ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนลูก ลงทุนในกิจการ ชำระหนี้เดิม ค้ำประกันให้บุคคลอื่น การพนัน อบายมุข ฯลฯ แน่นอนว่าหลายคนคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการกู้นอกระบบ จนทำให้ปัญหาหนี้สินที่เดิมหนักอยู่แล้วบานปลายขึ้นไปอีก เพราะเห็นว่ามัน “ง่าย” แต่หารู้ไม่ว่ามันมาพร้อมกับ “ภัย” ซึ่งจะมาเยือนทันทีที่คุณจ่ายไม่ทัน
สาเหตุที่เป็นหนี้นอกระบบ
1. จำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน
คนเรามีโอกาสประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องใช้เงินแบบเร่งด่วน เจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษา เกิดภัยธรรมชาติต้องใช้เงินซ่อมบ้าน ซ่อมรถ รวมถึงตกงานขาดรายได้ เงินออมที่เก็บไว้มีไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้จ่าย ซึ่งหลายคนมักจะนึกถึงเงินกู้นอกระบบ เพราะหยิบยืมง่าย จนลืมคิดไปว่าเงินกู้นอกระบบนั้นดอกเบี้ยมันสูงมากจนน่าสะพรึงกลัว
2. มีข้อจำกัดต่างๆ เช่น เพิ่งเริ่มทำงาน ไม่มีหลักทรัพย์
คุณสมบัติส่วนตัวของผู้ขอกู้สินเชื่อนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยตัวผู้ขอกู้สินเชื่อจะต้องมีอายุที่อยู่ในเกณฑ์การอนุมัติคือ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ช่วงเริ่มทำงานก่อร่างสร้างตัวอาจจะยังไม่เป็นผู้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงยังไม่มีทรัพย์สินของตนเองที่จะนำมาค้ำประกันในการขอสินเชื่อด้วย จึงจำเป็นต้องพึ่งหนี้นอกระบบ
3. มีหนี้สินกับสถาบันการเงินมากมายล้นพ้น
สาเหตุแรกๆ ของการมีหนี้สินล้นพ้นคือ พฤติกรรมการใช้จ่ายโดยไม่ระมัดระวัง ไม่มีการคำนึงถึงรายได้ของตัวเองหรือจำนวนเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า อยากได้อะไรก็ซื้อ อยากกินอะไรก็กิน ไม่มีแผนสำรองเผื่อฉุกเฉิน เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ชักหน้าไม่ถึงหลัง จ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำก็แล้ว กดบัตรโน้นไปโปะบัตรนี้ก็แล้ว แต่สถานการณ์ทางการเงินก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย ซึ่งนำไปสู่การเป็นหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดเกินจะเยียวยา จนทำให้ไม่สามารถกู้เงินเพิ่มจากสถาบันการเงินได้อีกต่อไป
ทางลัดในการปลดหนี้นอกระบบ
เมื่อทราบสาเหตุการเป็นหนี้นอกระบบแล้ว หลายคนกำลังจะมีประวัติการค้างชำระ ติดหลุมดำทางการเงิน พยายามมองหาทางออก แสงสว่างแห่งชีวิตเพื่อต้องการหลุดพ้นจากสิ่งที่เกิดขึ้น คิดอะไรไม่ออก คิดอยากจะแก้ไข จะไปทางไหนดี ถ้าใครลองหลายวิธี แล้วชีวิตการเงินยังไม่ดีขึ้น ลองศึกษาวิธีการด้านล่างนี้จะเป็นแนวทางนำไปสู่แสงสว่างทางการเงินได้อย่างแน่นอน
1. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่ก่อหนี้เพิ่ม
เริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการสำรวจการใช้เงินของตัวเองในแต่ละวัน ว่าหมดไปกับเรื่องอะไรบ้าง มีอะไรที่จำเป็น หรืออะไรที่เกินความจำเป็น สามารถตัดออกไปได้โดยไม่กระทบกับการใช้ชีวิตก็ควรตัดออกไป เช่น ชอปปิงให้น้อยลง ทำอาหารทานเองแทนการออกไปทานข้างนอก หันมาชงกาแฟดื่มเองแทนการซื้อตามร้านดัง หรือลดการเที่ยวสังสรรค์ลงบ้าง เพื่อลดรายจ่ายต่าง ๆ ลง และแนะนำให้จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย แต่ละวันไปเลย จะได้รู้ว่าจริงๆ แล้ว เราฟุ่มเฟือยไปกับเรื่องอะไรบ้าง ส่วนใครที่ปลดภาระหนี้ได้เเล้ว ก็อย่าเพิ่งดีใจจนคิดจะไปสร้างหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ
2. หารายได้เพิ่ม
เราอาจจะเริ่มต้นจากการทำงาน Part-Time วันเสาร์-อาทิตย์ หรือการทำ OT ในช่วงเริ่มต้นก่อน แล้วค่อยๆ มองหาลู่ทางขยันเพิ่มต่อไปอีกเรื่อยๆ หรือมีอะไรที่เราพอจะทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่กันไปได้บ้าง อันนี้ต้องดูความถนัดของตัวเราประกอบด้วย
3. ปรึกษาธนาคาร หาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เปลี่ยนเป็นหนี้ในระบบดอกเบี้ยถูกกว่า
ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งมีแนวทางช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบออกมาอยู่เรื่อยๆ ลองเข้าไปติดต่อสอบถามธนาคารต่างๆ ดูว่าสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เช่น
– ขอกู้สินเชื่อส่วนบุคคล
สามารถทำได้กรณีที่เรายังมีเครดิตหรือประวัติการชำระหนี้กับสถาบันการเงินที่ดีอยู่บ้าง ซึ่งแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลจะสูงพอสมควร แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบ และการเป็นหนี้ในระบบยังไงก็ดีกว่าเป็นหนี้นอกระบบแน่นอน
– ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
ข้อดีของสินเชื่อส่วนบุคคลคือได้เงินง่าย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ถ้าคุณยังพอมีบ้าน ที่ดิน หรือรถยนต์ปลอดภาระ อาจจะลองใช้วิธีกู้เงินแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะดีกว่า เพราะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ช่วยให้ภาระต่างๆ เบาลงได้เยอะทีเดียว
4. ตัดใจขายทรัพย์สินมีค่า เมื่อได้เงินก้อนมา รีบนำไปปลดหนี้ทันที
บางครั้งก็จำเป็นต้องตัดใจขายของมีค่าบางอย่างออกไป เพื่อนำเงินก้อนมาโปะหนี้ส่วนที่เหลือให้หมด โดยควรทยอยขายของที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไปก่อน เช่น เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้าแบรนด์เนม นาฬิกา หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องขายรถ ขายบ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็น ก็อาจจะต้องทำ เพราะอย่าลืมว่าสิ่งสำคัญตอนนี้คือการปลดหนี้ที่มีให้หมดไปก่อน หลังจากนั้นค่อยทำงานเก็บเงินซื้อใหม่ที่มีราคาและขนาดเหมาะสมกับตัวเองก็ยังได้
5. เจรจากับเจ้าหนี้ หรือ รีไฟแนนซ์
หากเริ่มรู้ตัวแล้วว่าภาระหนี้ที่แบกอยู่เยอะจนจ่ายไม่ไหว สิ่งแรกที่ควรทำให้เร็วที่สุดคือ เข้าไปเจรจา พูดคุยกับเจ้าหนี้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะขอผ่อนผันยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน โดยขอให้คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม หรือขอลดดอกเบี้ยบางส่วนลงมาได้ไหม พร้อมรับปากจะไม่ผิดนัดและจ่ายเงินที่เหลือตามเวลาที่กำหนด หรือรีไฟแนนซ์ไปสถาบันการเงินอื่นซึ่งการวางแผนการชำระหนี้จะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า หากเราทำการผ่อนชำระตามแผนอย่างมีวินัย เราจะหลุดพ้นภาระหนี้ได้ภายในเวลาเท่าไหร่
6. ขอยืมเงินญาติพี่น้องคนสนิทนำไปปลดหนี้
เมื่อเจอปัญหารุมเร้ารอบด้าน การขอยืมเงินจากคนรอบตัวอย่าง พ่อ-แม่ ญาติพี่น้องที่สนิทกันจริงๆ เพื่อนำไปโปะหนี้ ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็เชื่อว่าถ้าคุณอธิบายให้พวกเขารับรู้ถึงความเดือดร้อนและปัญหาที่เจอ ครอบครัวก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้อยู่แล้ว ที่สำคัญ เมื่อปลดหนี้แล้วก็ต้องรักษาวินัยไม่ให้กลับไปเป็นหนี้อีก เพราะต่อให้ญาติสนิทแค่ไหน ก็คงไม่มีใครช่วยเราได้ทุกครั้งถ้าเรายังเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด
บทสรุป
เมื่อได้รู้ถึงโอกาสและสาเหตุที่คนเราสามารถก่อหนี้ได้แล้วจะได้มีความระมัดระวังในการใช้ชีวิต หากเป็นหนี้แล้วก็ควรมีวินัยในการใช้จ่ายให้มากขึ้น กำหนดระยะเวลาผ่อนจ่ายให้ดีว่าจะผ่อนกี่งวด งวดละเท่าไหร่ แล้วกันเงินส่วนนี้ไว้สำหรับชำระคืนทันทีทุกเดือน และไม่ควรก่อหนี้เลยถ้าเป็นไปได้ ใครกำลังประสบปัญหาเป็นหนี้นอกระบบอยู่ ก็ลองนำวิธีที่ K-Expert แนะนำไปปรับใช้กันดู เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้หลายคนหลุดพ้นจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัวไปได้อย่างแน่นอน
ความรู้ทางการเงินอื่นๆ https://www.kasikornbank.com/th/k-expert/knowledge/