ป.ป.ช. ฟันกราวรูด 109 คน! นายก อบต.-ปลัด อบต.-ก.อบต. ทั้งคณะ-นายอำเภอ-อาจารย์จุฬาฯ-ผู้สมัครสอบ คดี 31 อบต.ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จัดสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบลฉาว เรียกรับเงินรายละ 5-6 แสน แลกแก้ผลสอบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดกลุ่มนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม กลุ่มคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) มหาสารคาม และบุคคลเกี่ยวข้องเพิ่มเติมรวม 109 ราย กรณีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จำนวน 31 แห่ง โดยทุจริต และมีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบรายละ 5-6 แสนบาท
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า จากกรณีเมื่อปี 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดดังกล่าวในส่วน อบต.ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จำนวน 18 ราย นั้น บัดนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ จ.มหาสารคามเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง
โดยข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า เมื่อปี 2557 อบต. ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จำนวน 31 แห่ง ซึ่งดำเนินการจัดสอบ โดยมหาวิทยาลัย 2 แห่ง แห่งแรกดำเนินการจัดสอบ 19 อบต. แห่งที่สองดำเนินการจัดสอบ 12 อบต.
ผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่การดำเนินการประสานงานให้มหาวิทยาลัย 2 แห่ง เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการจัดสอบ รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบแข่งขันซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้มีการประชุมกันจริงแต่มีการจัดทำรายงานการประชุมเท็จและมีการเบิกเงิน ค่าเบี้ยประชุมและค่าเดินทางเพื่อให้เชื่อว่ามีการประชุมเพื่อจัดเตรียมการจัดสอบจริง ต่อมาเมื่อมีการจัดสอบแล้ว ผลการสอบปรากฏว่า การจัดสอบโดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีผู้สอบได้ 3 คน ส่วนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง มีผู้สอบได้ 1 คน
โดยมหาวิทยาลัยแห่งแรก กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันจัดทำผลคะแนนปลอม จากผู้สมัครสอบ ที่สอบไม่ผ่านให้เป็นผู้สอบผ่าน โดยมีการปลอมลายมือชื่อของอาจารย์และตราประทับของมหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้รับผิดชอบโครงการเป็นผู้จัดทำผลคะแนนสอบเป็นเท็จ แล้วลงลายมือชื่อของอาจารย์และตราประทับของมหาวิทยาลัยจริง ส่วนในการสอบสัมภาษณ์คณะกรรมการสัมภาษณ์ไม่มีการลงคะแนนหรือลงคะแนนด้วยดินสอแต่ลงลายมือชื่อด้วยปากกาในตารางการให้คะแนนเพื่อให้มีการแก้ไขให้คะแนนให้เป็นไปตามที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาต้องการ
ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบที่ประสงค์จะเป็นผู้สอบได้ รายละ 500,000 – 650,000 บาท แล้วนำส่วนหนึ่งรายละ 50,000 บาท เป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ติดต่อ (นายหน้า) ให้ผู้สมัครสอบจ่ายเงินดังกล่าว และนำส่วนหนึ่งมอบให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ร่วมขบวนการที่จัดทำผลคะแนน เป็นเท็จ จำนวน 3,000,000 บาทเศษ และมอบให้ผู้ที่จัดทำผลคะแนนปลอมของมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง จำนวน 12,000,000 บาท และเมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตการสอบดังกล่าวต่อคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรรมการพนักงานส่วนตำบลก็ได้มีการร่วมกันลงมติให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อปกปิดไม่ให้มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
กลุ่มนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 4 คน
กลุ่มคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดมหาสารคาม (ก.อบต.จังหวัดมหาสารคาม) จำนวน 17 คน
กลุ่มที่จัดทำผลคะแนนเท็จและปลอมผลคะแนน จำนวน 4 คน
กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 9 คน
กลุ่มผู้ได้รับการขึ้นบัญชีและบรรจุแต่งตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล 4 แห่ง จำนวน 75 คนมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86