ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือคนกลุ่มนี้หลายด้าน ทั้งส่งเสริมการจ้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ แก้ปัญหาหนี้สิน บรรเทาภาระค่าครองชีพ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น จัดตั้งพิโกไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับขึ้นทั่วประเทศ
“พิโกไฟแนนซ์” เป็นแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประชาชนรายย่อย โดยรัฐบาลเปิดให้เอกชนที่ได้รับอนุญาตสามารถประกอบธุรกิจให้สินเชื่อแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในแต่ละจังหวัดและต้องการนำเงินหมุนเวียนไปใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นได้ วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท และคิดดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 – ก.พ. 2562 มีนิติบุคคลยื่นขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ รวมทั้งสิ้น 927 ราย ใน 74 จังหวัด เปิดดำเนินการแล้ว 382 ราย ใน 64 จังหวัด ส่วนยอดปล่อยสินเชื่อเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 อยู่ที่ 56,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 1,550 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสะท้อนว่าบางครั้งมีภาระต้องใช้จ่ายมากกว่า 50,000 บาท หากไม่สามารถหาแหล่งสินเชื่อในระบบได้ก็อาจจะต้องไปกู้หนี้นอกระบบอีก ขณะที่บางส่วนจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพที่มากพอ
ล่าสุดรัฐบาลจึงได้เห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขการปล่อยกู้ของผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยมีรายละเอียดดังนี้
วงเงินสินเชื่อ
ขยายวงเงินสินเชื่อสูงสุด จากเดิม 50,000 บาทต่อราย เป็น 100,000 บาทต่อราย
ทุนจดทะเบียนของผู้ประกอบกิจการ
1. ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่ต้องการปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนไม่เกิน 50,000 บาท ต่อราย ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท
2. ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่ต้องการให้สินเชื่อแก่ประชาชนไม่เกิน 100,000 บาท ต่อราย ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ย (รวมค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม)
1. วงเงินสินเชื่อ 50,000 บาทแรก เรียกเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี
2. วงเงินสินเชื่อส่วนที่เกินกว่า 50,000 บาท เรียกเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี