สถานการณ์ภัยแล้งปีที่ผ่านมาส่งผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ทั่วประเทศรวม 16 จังหวัด ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา และมหาสารคาม “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “เกียรติศักดิ์ จันทรา” ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ถึงสถานการณ์ภัยแล้งและแนวทางการแก้ไข ทั้งแผนระยะสั้น และระยะยาว
เร่งหาแหล่งน้ำอุ้ม 7 อำเภอ
“เกียรติศักดิ์” เล่าว่า ที่ผ่านมาจังหวัดมหาสารคามมีปัญหาการขาดแคลนน้ำมาโดยตลอดเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำสำรองสำหรับเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค มีเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัด 17 แห่งเท่านั้น ปีที่แล้วถือว่าโชคดีที่มีพายุโซนร้อนโพดุลเข้ามา ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำพอสมควร แต่ถึงอย่างไรก็มีน้ำไม่เพียงพอ โดยมีปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าหากรอให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ต้องรอไปจนถึงช่วงหน้าฝนประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 แต่ปัจจุบันน้ำในอ่างเหล่านี้เริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ทางจังหวัดจึงมีการเร่งให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น หาแหล่งน้ำสำรองจากพื้นที่ใกล้เคียง รณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งการเจาะบ่อบาดาลนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ เพื่อช่วยชาวบ้านใน 7 อำเภอ รวม 85 บ่อ เป็นต้น
ลำน้ำชี-เขื่อนอุบลรัตน์วิกฤต
สำหรับแหล่งน้ำที่นำมาใช้คือ ลำน้ำชี ซึ่งไหลผ่านจังหวัดมหาสารคาม รวม 4 อำเภอ ได้แก่ 1) อ.โกสุมพิสัย 2) อ.เชียงยืน 3) อ.กันทรวิชัย และ 4) อ.เมือง ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชากรชาวมหาสารคามมานานนับร้อยปี ที่ประชาชนตลอดสองฟากฝั่งได้อาศัยใช้อุปโภคบริโภค ทำการเกษตร เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปา รวมทั้งประมงพื้นบ้าน แต่สถานการณ์ในลำชีช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่มหาสารคามปีนี้ปริมาณน้ำมีน้อยมาก เนื่องจากต้นลำน้ำชีซึ่งอยู่ในเขต จ.ชัยภูมิ ปีที่แล้วประสบภัยแล้งจึงทำให้มีน้ำไหลลงน้ำชีน้อย รวมทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ปริมาณน้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนก็มีน้อย (จากข้อมูลสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทานได้รายงานสรุปสภาพน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ณ วันที่ 27 มกราคม 2563 มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 126.95 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 6.86) ทำให้น้ำในเขื่อนมีไม่มาก การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนมีขีดจำกัด เมื่อเขื่อนอุบลรัตน์มีปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในลำน้ำชี
“สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะลำน้ำชีเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ทางการประปาส่วนภูมิภาคให้บริการในเขต อ.เมือง อ.กันทรวิชัย และ อ.แกดำ โดยนำมาผลิตเป็นน้ำประปา ทางจังหวัดก็ขอความร่วมมือกับเกษตรกรผู้ทำนาปรังที่ลำน้ำชีไหลผ่าน ไม่ให้สูบน้ำชีมาใช้ทำนาปรัง เพราะอาจไม่เพียงพอต่อการผลิตประปาใช้อุปโภคบริโภคได้”
ผันน้ำเขื่อนลำปาวผลิตประปา
ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้หาแนวทางการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาที่ดำเนินการไปแล้ว คือ การประสานกับทางชลประทานเพิ่มน้ำในลำน้ำชี โดยผันน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ สนับสนุนการผลิตน้ำประปาเมืองมหาสารคาม ลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งของชลประทาน (ข้อมูลสำนักงานชลประทานที่ 6 รายงาน ณ วันที่ 27 มกราคม 2563 เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 1,153.38 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 61.35) โดยการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนลำปาว น้ำส่วนที่ระบายออกจากแปลงนาเป็นลักษณะการใช้น้ำรอบสอง ซึ่งจะไม่กระทบกับแผนการระบายน้ำไปช่วยลุ่มน้ำชีตอนล่าง น้ำส่วนที่ระบายออกจากแปลงนาส่วนนี้จะไหลกลับลงลำปาว และลงแม่น้ำชีหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด
จากนั้นจะสูบน้ำย้อนกลับจากท้ายเขื่อนวังยางไปเก็บกักไว้ที่หน้าเขื่อนวังยาง โดยใช้เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 6 เครื่อง อัตราการสูบวันละ 180,000 ลูกบาศก์เมตร เริ่มทดลองสูบน้ำแล้ว และจะสูบไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 คาดว่าจะสามารถลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ลงได้วันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร รวมแล้วประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนหน้าเขื่อนวังยางได้ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาระดับน้ำให้กับการประปาฯสาขาเมืองมหาสารคาม และประปาหมู่บ้าน เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จึงคาดว่าจะไม่ทำให้ขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตประปา
สำหรับการจัดการปัญหาการขาดแคลนน้ำถาวรระยะยาวมหาสารคาม จะต้องมีแก้มลิงขนาดใหญ่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ โดยเฉพาะช่วงที่น้ำในลำน้ำชีมีจำนวนมากถึงแม้จะมีเขื่อนกั้นไว้ แต่มีปริมาณการจัดเก็บในระดับหนึ่งต้องระบายออกไปเมื่อเรามีแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ใช้จะทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้อุปโภคบริโภคตลอดปี