เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 มกราคม ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. และ น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. พร้อมสมาชิกประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามหลักสากลและเท่ากันทั่วประเทศ
โดย น.ส.ธนพรกล่าวว่า คสรท.ขอประกาศจุดยืนเดิม และเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 4 ข้อ คือ 1.ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามหลักการสากล ให้สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ 2.ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ 3.ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติที่มีองค์ประกอบครอบคลุมทุกภาคส่วน และ 4.ให้รัฐบาลวางมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง ทั้งนี้ หากรัฐบาล และกระทรวงแรงงานไม่ยอมทบทวนเรื่องดังกล่าวนี้ เราจะมีการเคลื่อนไหวต่อไป
ด้านนายชาลีกล่าวว่า เราต้องการให้มีการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากกลไกการทำงานล้มเหลว ทั้งนี้ พบว่าอนุกรรมการฯบางจังหวัด ไม่มีตัวแทนลูกจ้าง ทำให้ค่าจ้างที่เสนอเข้ามาส่วนกลาง มาจากนายจ้างฝ่ายเดียว และบอร์ดค่าจ้างพิจารณาค่าจ้างโดยไม่มีการนำข้อมูลจากอนุกรรมการฯมาพิจารณา เพราะมีธงของนายจ้างและรัฐบาลอยู่แล้ว ตัวเลขจึงไม่ตรงกับที่อนุกรรมการฯแต่ละจังหวัดเสนอมา จึงมองว่าเป็นการใช้อนุกรรมการฯเพียงเพื่ออ้างอิงปรับค่าจ้างเท่านั้น และจากเสนอให้บอร์ดค่าจ้างเพิ่มคณะกรรมการที่เป็นนักวิชาการ หรือนักเศรษฐศาสตร์สังคมจะได้ครอบคลุมทุกด้าน และประเด็นสำคัญที่รับไม่ได้คือการลดภาษีให้กลุ่มทุน 1.5 เท่า และลดเงินสมทบประกันสังคม 1% ดังนั้น อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือปลัดกระทรวงแรงงาน ทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง เป็นที่ยอมรับทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง
ที่มา : มติชนออนไลน์