เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม.และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเรื่อง “ป.ป.ช. แกล้งมือตกสอบนาฬิกาหรู ใช่หรือไม่ !?” ระบุว่า
การที่ ป.ป.ช. ยกคำร้องเรื่องนาฬิกาของ พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยอ้างว่านาฬิกาทั้งหมดที่ พล.อ ประวิตรใส่เป็นการยืมเพื่อนคือนายปัฐวาสนั้น แล้วปิดคดีไปดื้อๆ แสดงการมือตกของ ป.ป.ช. ซึ่งไม่ใช่การตรวจสอบแบบมืออาชีพ ใช่หรือไม่
ป.ป.ช แถลงว่า “จากการตรวจสอบการสำแดงราคานาฬิกา ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายปัทวาส สุขศรีวงศ์ มีนาฬิกาเป็นจำนวนมาก ได้ให้เพื่อนในกลุ่มโรงเรียนยืมนาฬิกาไปใส่เป็นประจำ มีนาฬิกาที่ตรวจสอบ 22 เรือน พบหลักฐาน 21 เรือน และพบว่าเป็นผู้ซื้อในต่างประเทศ 1 เรือน ซื้อต่อ 1 เรือน ที่เหลือไม่พบหลักฐาน โดยทางกรมศุลฯไม่สามารถตรวจพบได้”
ข้อมูลที่ตรวจสอบแสดงว่านาฬิกา 21 เรือน นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ไม่ได้มีการเสียภาษีนำเข้าอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องยึดนาฬิกาทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดินเฉกเช่นเดียวกับที่กรมศุลกากรจับและยึดคนนำเข้านาฬิกาหรูโดยหลบเลี่ยงการเสียภาษี ป.ป.ช. จะทำหรือไม่?
ข้ออ้างว่า พลเอกประวิตรยืมนาฬิกาเพื่อนใส่เป็นประจำ จนกระทั่งเพื่อนตายแล้วเมื่อต้นปี แต่ปลายปีแล้ว พล.อ ประวิตรก็ยังใส่นาฬิกานั้นอยู่ ป.ป.ช. วินิจฉัยกรณีนี้ไว้อย่างไร
นอกจากนี้ ป.ป.ช. มีการคำนวณผลประโยชน์ที่ พล.อ ประวิตรได้รับจากการยืมนาฬิกาว่ามีมูลค่าเกิน 3,000 บาทตามข้อห้ามของกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่? และ ป.ป.ช.ได้นำประเด็นนี้มาตรวจสอบด้วยหรือไม่ ?
กรณีที่นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อ้างว่ายืมรถคนอื่นมาใช้ โดยที่ทะเบียนรถก็เป็นชื่อของคนอื่นจริงๆ แต่ ป.ป.ช. ก็ยังไม่เชื่อ และทำสำนวนส่งฟ้องศาลฯ แต่เหตุใดกรณีนี้จึงเชื่อง่ายๆ ว่า นาฬิกาที่พลเอกประวิตรใส่ เป็นการยืมเพื่อน ทั้งที่นาฬิกาดังกล่าวไม่มีเอกสารยืนยันว่าเป็นของใคร
การผ่านพิธีกรรมตรวจสอบแล้วปิดคดีดื้อๆ ไปแบบนี้ จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เพราะเข้าใจผิดว่าอำนาจเป็นของตน จะใช้อย่างไรก็ได้ ใช่หรือไม่?
การใช้อำนาจต้องมีเหตุผลรองรับที่วิญญูชนรับฟังได้ ดังนั้น ป.ป.ช.ควรมีการเปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 8 ท่าน ระหว่างเสียงข้างมาก 5 ท่านที่ให้ยกคำร้องว่าไม่มีมูล และเสียงข้างน้อย 3 ท่าน ว่าให้มีการหาข้อมูลเพิ่มนั้น กรรมการทั้ง 8 ท่าน ให้เหตุผลไว้อย่างไรบ้าง?
คดีนี้เป็นคดีอื้อฉาวที่สังคมให้ความสนใจอย่างสูง การตัดสินคดีที่ขัดสายตาประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศเช่นนี้ ย่อมนำความเสื่อมมาสู่องค์กรตรวจสอบคอร์รัปชั่นระดับชาติอย่าง ป.ป.ช. ใช่หรือไม่?