จากกรณีที่ น.ส.วิลาวรรณ ดอนหาเทา อายุ 25 ปี ชาว จ.มหาสารคาม แม่ของน้องมิวค์ วัย 6 ขวบ ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรค “ตับวาย” แต่ตลอดระยะเวลาการรักษานั้น ทำให้ผู้เป็นแม่คาใจในการรักษาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจ.มหาสารคามเป็นอย่างมาก ที่ทำไมไม่ส่งไป ร.พ.ใน จ.ขอนแก่นตั้งแต่แรก จนทำให้ลูกเสียชีวิตดังกล่าว
ล่าสุดวันที่ 29 มี.ค. ที่ ร.พ.ขอนแก่น นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.ร.พ.ขอนแก่น, นพ.ภิเษก ยิ้มแย้ม กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและโรคตับ, นพ.ตระการ แซ่ลิ้ม, พญ.กุลวิภา ตันทนะเทวินทร์ และ นพ.ภคิน กักไพฑูรย์ กุมารแพทย์ ร.พ.ขอนแก่น ร่วมกันแถลงกรณีดังกล่าว
โดย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.ร.พ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การรักษาน้องลูกสาวของ น.ส.วิลาวรรณ ที่ ร.พ.มหาสารคาม และ ร.พ.ขอนแก่น ไม่ได้เป็นการรักษาที่ล่าช้า เพราะ ร.พ.มหาสารคาม ก็มีหมอกุมารเวชกรรมมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะอีกด้วย ส่วนที่ ร.พ.ขอนแก่น ก็มีเช่นเดียวกัน แต่มีเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่า ร.พ.มหาสารคาม
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบประวัติของคนไข้ในช่วงแรกพบว่าเด็กยังอาการปกติ แต่ก็เป็นโรคตับวายรุนแรง คือ ตับไม่ทำงานและตับจะเสียไปเรื่อยๆ คือจะดร็อปลงไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กยังอาการดีอยู่ ต่อมาไม่ดี เพราะตับวายรุนแรงได้สร้างสารต่างๆ และกำจัดสารพิษเสียไป โดยเฉพาะสารด้วยการแข็งตัวของเลือด เพราะเด็กมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาเจียนเป็นเลือดออกมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้เด็กเสียเลือดอาการเด็กยิ่งทรุดหนักลงไป และเด็กก็จากไป
“ผมเห็นใจและเสียใจอย่างมากการที่เด็กต้องเสียชีวิตไป แพทย์และพยาบาลทั้งสองโรงพยาบาลได้ทำเต็มที่แบบสุดความสามารถ แต่การป่วยของเด็กรุนแรงจริงๆ เพราะเด็กป่วยด้วยอาการของตับวายรุนแรง ดังนั้น ร.พ.ขอนแก่น ต้องหาสาเหตุของตับวายในตัวเด็กว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ด้วยการส่งเลือดตรวจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์” นพ.ชาญชัย กล่าว
ด้าน นพ.ภิเษก ยิ้มแย้ม กล่าวว่า แม่เด็กสงสัยว่าเด็กเป็นโรคติดเชื้อทำให้ตับวาย เรื่องนี้ ภาวะตับวายเฉียบพลันในเด็กมีหลายสาเหตุ โดยเฉพาะคนไข้รายนี้มาด้วยเรื่องของตับเอกเสบก่อน ต่อมาก็มีปัญหาตับวายเฉียบพลันทำให้ความรู้สึกในตัวคนไข้ลดลง เมื่อได้หาสาเหตุด้วยการส่งเลือดตรวจเบื้องต้น ก็ทราบว่าอาจมาในเรื่องของภาวะติดเชื้อ คาดว่าเป็นเชื้อไวรัส หรือการกินยาสมุนไพร หรือพวกสารพิษทั้งหลาย ส่วนที่รุนแรงที่สุดอาจเป็นโรคตับที่เกี่ยวข้องกับทางพันธุกรรม จึงเกิดภาวะเฉียบพลันในตัวคนไข้รายนี้ และอาการทรุดลงจนถึงเสียชีวิต แม้ว่าคณะแพทย์ทั้งสองโรงพยาบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยชีวิตคนไข้รายนี้ก็ตาม
ภาพและข้อมูลข่าวจาก