สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจน-ชี้ บิ๊กตู่ พูดจะไม่ลงเล่นการเมืองถามมีสักกี่คนที่เชื่อ
วันที่ 8 ตุลาคม 2560 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรื่อง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจน
ตามที่รัฐบาลมีโครงการ “ประชารัฐ” สวัสดิการช่วยเหลือคนจนที่ลงทะเบียน นำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปรูดซื้อสินค้าตามร้านที่กำหนด (มีเครื่องรูดบัตร) โดยคนที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้ 300 บาท/เดือน คนรายได้ 3 หมื่น-1 แสนบาทต่อปี จะได้เดือนละ 200 บาท รวมทั้งได้ส่วนลดค่าซื้อแก๊สหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ได้วงเงินขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน รถ บขส. 500 บาทต่อเดือน และรถไฟ 500 บาทต่อ 1 เดือน รวมผู้มีสิทธิ์กว่า 11.67 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลต้องควักเงินทั้งสิ้น 41,940 ล้านบาทต่อปี ไม่ต่างอะไรกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในอดีต ที่ไม่ได้ช่วยเพิ่มตัวเลขจีดีพีของประเทศแต่อย่างใด
การดำเนินโครงการดังกล่าว กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจ เจ้าสัวนายทุนใหญ่เจ้าของสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ ที่ส่งผ่านสินค้าไปยังตัวแทนผู้จำหน่ายในรูป “ร้านธงฟ้าประชารัฐ” แทบทั้งสิ้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ก็จะมาจากบริษัทใหญ่ไม่กี่ราย ขณะที่สินค้าจากชาวบ้าน สินค้า SME จากกลุ่มผู้ผลิตในท้องถิ่น ผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดย่อม ที่ไม่มีไลน์ธุรกิจที่สามารถดิวส์ซื้อขายกับร้านค้าที่กรมการค้าภายใน-กรมบัญชีกลางกำหนดได้ ก็จะไม่สามารถขายสินค้าของตนเองได้เลย
ดังนั้นเงินหลวงที่รัฐบาลอ้างว่าช่วยเหลือคนจน ก็จะไหลเข้าบริษัทใหญ่หรือกลุ่มเจ้าสัวที่ยืนอยู่ข้างหลังรัฐบาลเท่านั้น การดำเนินโครงการนี้จึงเท่ากับใช้คนจนเป็นข้ออ้างเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจนายทุนหรือเจ้าสัวโดยตรง ทุกครั้งที่คนจนไปรูดบัตรแลกสินค้าเงินก็จะไหลจากบัญชีรัฐไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัวมากมายมหาศาลทุก ๆ เดือน โดยที่คนจนไม่มีสิทธิเห็นเงินเลยแม้สลึงเดียว และที่สำคัญร้านธงฟ้าประชารัฐไม่ได้มีสาขาหรือจุดบริการกระจายเป็นการทั่วไปทุกตำบลทุกหมู่บ้าน เหมือนร้านโชว์ห่วยของชาวบ้านด้วยกันเองที่มักจะมีอยู่ใกล้บ้านในในเมืองและชนบท ทำให้ชาวบ้านต้องเสียเงินและเสียเวลาในการเดินทางไปจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างอำเภอ ตำบล ชนบทห่างไกล
นอกจากนั้นการกำหนดให้คนจนต้องทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นมาใหม่ โดยไม่ใช้ร่วมกับบัตรประจำตัวประชาชนที่อวดอ้างว่าเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด (Smart card) เป็นการทำงานที่ไม่คุ้มค่า ไม่ประหยัดการใช้จ่ายของภาครัฐ เพราะรัฐต้องเสียเงินไปกับการจัดซื้อจัดหาบัตรสวัสดิการที่มีราคามากกว่า 35 บาทต่อใบเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 11 ล้านใบ อีกทั้งการติดตั้งเครื่องอีดีซีทั่วประเทศทำได้เพียง 5,061 เครื่องจากร้านค้าที่เข้าร่วมมีเพียง 19,500 แห่ง ทั้ง ๆ ที่ผู้ลงทะเบียนคนจนกระจายอยู่ทั่วประเทศใน 7,255 ตำบล 75,032 หมู่บ้าน ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการเลย แต่กลับมาโฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพเร่งรีบให้ใช้บัตร แต่พอเกิดเหตุผิดพลาดกลับโบ๊ยไปให้ร้านค้าและคนจนเสียสิ้น
กรณีดังกล่าวจึงสงสัยว่า รัฐบาลเร่งรีบผลักดันโครงการดังกล่าวออกมาเพื่อปูฐานเสียงให้ประชาชนนิยม เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ในการเลือกตั้งในปีหน้ามากกว่าการจะแก้ไขปัญหาให้คนจนหรือไม่ และการที่นายกฯ ออกมาพูดเสมอว่าจะไม่ลงเล่นการเมืองนั้น ณ เวลานี้จะมีคนไทยสักกี่คนที่เชื่อคำพูดนายกฯ ได้ เพราะแม้แต่การประกาศให้มีการเลือกตั้ง ยังตระบัดคำพูดของตนมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ยิ่งกว่าพิน็อคคิโอในนิยายเสียอีก ที่สำคัญการดำเนินโครงการและใช้จ่ายเงินของรัฐตามโครงการดังกล่าวอาจขัดต่อมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยการทุจริตต่อหน้าที่และ พรป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 อีกด้วย
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลได้โปรดพิจารณาทบทวน และหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจนนี้เสียโดยเร็ว และหากมีหลักฐานเป็นที่ชัดเจนเพียงพอเมื่อใดสมาคมฯจักต้องนำความไปร้องเรียนกล่าวโทษต่อผู้ที่ใช้อำนาจในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณีเกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกคนทุกตำแหน่งต่อไป ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะยังอยู่ในอำนาจหรือไม่ในอนาคต
ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Srisuwan Janya ,kapook