ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีประธานสภาองค์กรชุมชนฯร้องทุกข์ให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้ง
วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ที่บ้านศาลา ม.1 ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมหาสารคาม อำเภอวาปีปทุม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดมหาสารคาม และ องค์การบริหารส่วนตำบลเสือโก้ก ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีประธานสภาองค์กรชุมชนฯร้องทุกข์ขอให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้ง โดยมีกลุ่มผู้ร้องและผู้นำท้องที่ในพื้นที่เข้าให้ข้อมูลประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว
จากกรณีนายทองไกร ปัญจะแก้ว ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.เสือโก้ก และกลุ่มผู้ร้อง ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวอ้างว่า เมื่อปี 2559 สำนักงานทรัพยากรน้ำจังหวัดขอนแก่น ได้จัดงบประมาณสำรวจขุดลอกหนองศาลาในส่วนที่ตื้นเขิน ตั้งอยู่ที่ บ.ศาลา ม .1 ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เนื้อที่ประมาณ 148 ไร่ ระหว่างการดำเนินการในช่วงปี 2559 – 2561 สามารถขุดลอกได้เพียง 2 ครั้ง ได้ในเนื้อที่ 1 ใน 3 เท่านั้น แต่ในปี 2562 ทราบว่า ไม่ได้มีการบรรจุแผนการขุดลอกหนองศาลาแต่อย่างได จึงทำให้ไม่ได้มีการขุดลอกหนองสาลาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ร้องและชาวบ้านได้ปรึกษาหาแนวทางหาน้ำมาใช้ โดยนำน้ำขุ่นอยู่ตอนบน(น้ำที่ขังอยู่บริเวณที่ขุดลอกใหม่) ลงมายังบริเวณน้ำที่ใสสะอาด และสูบน้ำใสจากส่วนหนึ่งของหนองที่อยู่ห่างไกลประมาณ 200 เมตร มาผสมกันเพื่อใช้ทำน้ำประปาแต่ยังขาดเครื่องสูบน้ำ ท่อส่งน้ำ และน้ำมันเชื้อเพลิง จึงขอความช่วยเหลือในกรณีดังกล่าว
ต่อมาสำนักพระราชวังได้มีหนังสือถึงจังหวัดมหาสารคาม แจ้งว่า นายทองใกร ปัญจะแก้ว ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม พร้อมผู้นำชุมชนมีหนังสือกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจจารินีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานโครงการขุดลอกหนองศาลา ม .1 ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เพื่อให้แหล่งน้ำสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ตลอดปี สืบเนื่องจากได้เคยมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำดังกล่าว แต่กลับส่งผลเสียกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ระบบนิเวศ แหล่งอาหารของชุมชน และปริมาณน้ำที่เคยมีตลอดปีกลับเหือดหายไป สำนักพระราชวังจึงขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับความเดือดร้อนของราษฎรในเรื่องดังกล่าว พร้อมพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความมั่นคงและการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบ เพื่อจักได้นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัยต่อไป
ที่มา ภาณุวัชร/ส.ปชส.มหาสารคาม