ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางในกลุ่มที่ทำให้ผิวขาวใสกำลังเป็นที่นิยมในท้องตลาด มีทั้งที่เป็นแบรนด์เนมและที่ไม่ใช่แบรนด์เนม ใช้กับทั้งผิวหน้าและผิวตัว แม้แต่ในส่วนที่อยู่ในร่มผ้า เช่น รักแร้ นอกจากนี้ยังเป็นไปตามแฟชั่นของการสวมใส่เสื้อผ้าด้วย เช่น ในรายที่ชอบใส่เสื้อสายเดี่ยว ต้องการให้รักแร้ขาวเนียนไปด้วย
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางในกลุ่มที่ทำให้มีผิวขาวใสจะมีส่วนประกอบได้หลายอย่าง ตั้งแต่ กลุ่มของสารกันแดด สารที่ออกฤทธิ์กับเซลล์สร้างเม็ดสีที่เรียกว่าเมลาโนไซต์โดยตรง หรือไปออกฤทธิ์ในการป้องกันการขนส่งเม็ดสีไปยังส่วนของผิวหนังชั้นนอก
สำหรับทางการแพทย์ สารที่มีคุณสมบัติดังกล่าวที่ใช้เป็นยาจะมีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนน กรดซาลิซิลิก เอเอชเอ สารบางตัวในกลุ่มที่เป็นโลหะหนัก เช่น ปรอท จัดเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง แต่อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ผ่าน อย. เมื่อผู้บริโภคนำไปใช้เป็นเวลาต่อเนื่องนานๆ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในลักษณะของการแพ้ มีอาการคัน มีผื่นผิวหนังอักเสบ หรือเกิดการระคายเคืองขึ้นได้ โดยผิวหนังจะมีอาการแดงร้อนบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางนั้นๆ ในกรณีที่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดรอยขาวในลักษณะที่คล้ายกับด่างขาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนน โลหะหนัก เช่น ปรอท สาร MBHQ (Monobenxyl ether of hydroquinone) โดยกลไกของการเกิดพิษกับเซลล์เมลาโนไซต์
แพทย์หญิงพู่กลิ่น ตรีสุโกศล ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านบริการ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับสารเกิดเป็นรอยคล้ำขึ้นมากกว่าเดิม จากการที่ไฮโดร ควิโนนไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า homogentisic acid oxidase ทำให้เกิดการสะสมของ homogentisic acid ซึ่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็น ochronotic pigment ทำให้มีสีผิวเป็นสีน้ำตาลทอง เกิดภาวะที่เรียกว่า โอโครโนซิส
สำหรับ สารปรอทที่เป็นส่วนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง เมื่อใช้เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้สีของผิวหนังเข้มขึ้นจากการสะสมของ mercury granules โดยซึมผ่านทางรูขุมขนและต่อมไขมัน การสะสมของปรอทในส่วนของ เคอราติน เช่น เล็บ จะทำให้มีสีที่ผิดปกติ และเกิดเล็บเปราะบางได้
การเกิดพิษของปรอทต่อร่างกาย อาจเกิดแบบเฉียบพลัน โดยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง และปอดอักเสบ ในรายที่เป็นพิษเรื้อรังจะมีอาการทางไต และอาการทางระบบประสาท
นอกจากนี้ อาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาว โดยไปลดการสร้างฮอร์โมน propiocortin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีเมลาโนไซต์ให้ลดลง จึงทำให้มีการหดตัวของเส้นเลือดในผิวหนัง ผิวจึงขาวขึ้นด้วย
ดังนั้น กล่าวสรุป การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวจึงควรพิจารณาให้รอบคอบ และเลือกที่มีความปลอดภัยเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียง ในกรณีที่เกิดความไม่แน่ใจว่าจะเป็นอาการจากการแพ้หรือไม่ แนะนำให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางนั้นๆ และพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาจะปลอดภัยดีกว่า.