เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ.. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ เป็นประธาน ได้นัดประชุมเพื่อปรับปรุงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ข้าว เป็นนัดสุดท้าย ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวาระสองและสาม ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ โดย พล.อ.มารุต แถลงภายหลังการประชุมว่า กมธ.ยืนยันที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าวให้ที่ประชุมพิจารณา โดยไม่ถอนร่างกฎหมายออกจากวาระการประชุม และยังคงสาระการส่งเสริมชาวนาให้ปลูกข้าวที่มีคุณภาพ และผ่านการรับรองพันธุ์ แต่ กมธ.ได้เพิ่มบทยกเว้นให้ชาวนาที่มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วไป พันธ์ข้าวใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนว่าด้วยคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งชาวนาปลูกเองหรือผู้อื่นใช้เพาะปลูกโดยไม่มีการโฆษณา ใช้เพาะปลูกได้โดยไม่ต้องผ่านการรับรองพันธุ์ ทั้งนี้กรณีที่ชาวนาอยากได้การรับรองพันธุ์สามารถยื่นให้กรมการข้าวพิจารณารับรองได้
“ขณะเดียวกัน หากพบพันธุ์ข้าวที่อาจสร้างความเสียหายต่อชาวนาหรือเศรษฐกิจของประเทศให้อำนาจอธิบดีกรมการข้าว โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) สั่งระงับผู้ทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้ หากผู้ทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่มาตรการลงโทษชาวนานั้น สาระของร่างที่ปรับปรุงได้ตัดออกทั้งหมด” พล.อ.มารุต กล่าวและว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมชาวนาให้เพาะปลูกข้าวที่ได้คุณภาพ ด้วยเมล็ดที่ผ่านการรับรองโดยกรมการข้าว รวมถึงพันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่น พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์ข้าวใหม่ได้สิทธิได้รับความช่วยเหลือ ส่งเสริมหรือสนับสนุน ทั้งนี้ต้องปลูกข้าวในพื้นที่โซนนิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ อย่างไรก็ตาม ประเด็นตรวจสอบคุณภาพพันธุ์ข้าวให้สิทธิบุคคลอื่นที่ไม่ใช่กรมการข้าว โดยการอนุมัติของกรมการข้าวเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพได้
ขณะที่ พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ รองประธาน กมธ.คนที่ 2 ยืนยันว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ข้าวผ่านการพิจารณา และประกาศใช้เป็นกฎหมาย ผู้ประกอบการหรือทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช รวมถึงนักวิชาการ ผู้วิจัยหรือผลิตพันธุ์ข้าวจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือต้องปรับตัว และยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป ขณะที่กรมการข้าว จำเป็นต้องพิจารณาปรับปรุงหน่วยงานเพื่อให้สอดรับกับมาตรการส่งเสริมชาวนาตามที่ร่างกฎหมายระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กรรมการ นบข.นั้นยังคงสัดส่วนกรรมการฯ เหมือนร่างที่เคยเสนอให้ สนช.บรรจุในระเบียบวาระการประชุม ที่คงสัดส่วนตัวแทนภาคเกษตรกร จำนวน 4 คน จากบรรดากรรมการที่มีทั้งหมด 23 คน ขณะที่การควบคุมการซื้อขายข้าวเปลือกที่ผิดกฎหมาย ที่กำหนดให้ออกใบรับซื้อข้าวเปลือก ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้มีสาระที่ปรับปรุงใหม่ กำหนดให้กรมการข้าว โดยความเห็นชอบของ นบข. ยกเว้นการรับซื้อข้าวเปลือกระหว่างชาวนาในระดับชุมชนตามความจำเป็นและช่วงเวลาได้
ที่มา : มติชนออนไลน์
Tags: พ.ร.บ.ข้าว