ถ้าพูดถึงอาหารพื้นบ้านไทยคงไม่มีไครไม่รู้จัก น้ำพริก เพราะถูกใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารต่าง ๆ หรือใช้ในการกิน เป็นกับข้าว และยังได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากน้ำพริก ฤทธิ์เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงและมีกำลังก็เพราะอุดมไปด้วย วิตามิน แคลเซียม และโปรตีนคุณภาพสูงหลายชนิด เพราะประกอบไปด้วย พริก หอม กระเทียม ข่า ฯลฯ อีกทั้งการกินผักเสริมยิ่งทำให้สบายท้อง และไม่ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยังทำให้ระบบเลือดไหลเวียนดี
สมุนไพรในน้ำพริก
1.พริก มีสาร แคปไซซิน มีสรรพคุณ ช่วยระบบทางเดินหายใจ ความดันโลหิตและหัวใจ ช่วยขับเหงื่อ มีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันการเกิดมะเร็งได้ ถ้ากินพริกเป็นประจำจะทำให้ระบบย่อยและการดูดซึมอาหารทำงานได้ไม่ดี แต่ถ้ากินในปริมาณที่พอเหมาะ จะทำให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อนเลือดไหลเวียนได้ดี
2.กระเทียมไทย จัดเป็นยอดสมุนไพรชนิดหนึ่ง คุณสมบัติคือสามารถป้องกันโรคมะเร็ง รักษาโรคหัวใจ โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น วัณโรคและไทฟอยด์ โรคปอด ลำไส้อักเสบ โรคทางเดินปัสสาวะ โรคหืด โรคพยาธิในลำใส้ ไขข้ออักเสบ และโรคเกาต์ กระเทียมมีคุณสมบัติเป็นยาแก้อักเสบและทำลายแบคทีเรีย โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ยังช่วยลดโคเลสเตอรอล และลดความดันโลหิตสูง
3.หอมแดง หัวหอมเล็ก,หอมแดงไทย ขับลม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับประจำเดือน แก้ไข้ แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร มีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ากระเทียม
4.ตะไคร้ รักษาหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ แก้อหิวาตกโรค
5.มะนาว น้ำมะนาวแก้กระหาย แก้ร้อนใน บำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายพยาธิ
ผักดีมีประโยชน์
1.ผักบุ้งนา หรือผักบุ้งไทย กินได้ทั้งสดและลวกแต่จะให้ดีกินแบบลวกปลอดภัยกว่า จะมีรสเย็นจึงช่วยบรรเทาอาการร้อนในได้ ใช้ดับพิษร้อน ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนคนที่เป็นโรคเบาหวาน มีวิตามินเอ ซึ่งช่วยบำรุงสายตา ทำให้ดวงตามีน้ำที่ล่อเลี้ยงเป็นประกายไม่แสบหรือแห้ง และยังช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง ธาตุเหล็กในผักบุ้งช่วยบำรุงเลือด ส่วนแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มีอยู่ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
2.มะเขือพวง รสขืนเล็กน้อย ช่วยละลายเสมหะ แก้ไข้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
3.เหลียง ใบอ่อนและยอดอ่อนลวก ทำให้แข็งแรงกระปรี้กระเปร่า
4.ถั่วฝักยาว เปลือก,ฝัก ใช้ระงับอาการปอดบวม ปวดตามเอว แผลที่เต้านม ส่วนเมล็ด บำรุงม้าม ไต แก้กระหายน้ำ ปัสสาวะกระปริบกระปรอย และตกขาว
5.แตงกวา ผลและเมล็ดอ่อน กินเป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ กระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ลำใส้ บำรุงธาตุดิน
น้ำพริกแต่ละอย่างจะมีรสจัดจ้าน ไม่เลี่ยน ทั้งยังสามารถกินกับผักสดๆ ได้แทบทุกชนิด และที่สำคัญน้ำพริกมีปริมาณไขมันต่ำ กินแล้วสุขภาพดีไม่ทำให้อ้วน ทางทีมเว็บไซต์ สสส.จึงมีน้ำพริกทั้ง4 ภาคมาฝากค่ะ
ภาคเหนือ: น้ำพริกข่า ข่ากับตะไคร้ ช่วยในการขับเหงื่อ ป้องกันหวัดคัดจมูก และช่วยในการระบาย
ภาคกลาง: น้ำพริกโผะเผะ มีฝักมะขามอ่อน กินกับผักสดต่างๆที่หากินได้ในช่วงหน้าฝน มีวิตามินเอสูง แล้วยังมีวิตามินซีมาก เหมาะกับช่วงหน้าฝน ป้องกันการเป็นไข้หวัดได้เป็นอย่างดี
ภาคใต้: น้ำชุบไคร(น้ำพริกตะไคร้ทรงเครื่อง) นำมาผัดหรือเคี่ยว และมักทำทีละมากๆเพื่อเก็บไว้กินทั้งปี มีสรรพคุณในการแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และบำรุงลำใส้ได้ดีอีกด้วย
ภาคอีสาน: แจ่วบอง เป็นน้ำพริกยอดนิยมของทางอีสาน เพราะทำง่ายนำมาจิ้มกับข้าวเหนียวได้เลย เป็นน้ำพริกแบบแห้ง เหมาะกับการพกพายามเดินทาง
การรับประทาน“น้ำพริก” คืออาหารคู่ครัวสำหรับของครัวไทย ถือเป็นวัฒนธรรมในการกินของคนไทย ที่ควรสืบสานและอนุรักษ์ให้คนรุ่นใหม่หันมารับประทานน้ำพริก อีกทั้งการรับประทานผักควบคู่ไปด้วยช่วยเพิ่มอรรถรสและได้ประโยชน์จากผัก ทาง สสส. อยากให้คนไทยหันมาบริโภคผักให้ได้ 400 กรัมต่อวัน และน้ำพริกเองก็เป็นอีกทางเลือกที่ทำให้รับประทานผักให้ได้มากขึ้น และยังคงความเป็นเอกลักษณ์ให้อยู่คู่สำรับของครัวไทยตลอดไป
ที่มา:กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)