สารพัดปัจจัยลบรุมถล่มหมูไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเร่งหารือ สนช.ออกกฎหมายหวังรักษาเสถียรภาพราคาในระยะยาว ระบุส่งออกหมูเป็น ปีนี้ลดวูบเหลือ 2 แสนกว่าตัว ประเทศเพื่อนบ้านแห่นำเข้าหมูราคาถูกจากเวียดนามแทน ด้านสหกรณ์แปดริ้วจ่อประชุมใหญ่ อาจเชือดขายเองอีกครั้ง และเร่งหารือบริษัทใหญ่ครบวงจรปลดระวางแม่พันธุ์เร็วขึ้นลดซัพพลายที่ล้นหนัก
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้บริหารสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกำลังหารือกับทางตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยกร่างพระราชบัญญัติสุกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้เหมาะสมกับต้นทุนการผลิต การควบคุมโรค กำลังการผลิตที่เหมาะสมกับตลาด ซึ่งจะพิจารณาดูเป็นเขต การควบคุมดูแลการนำเข้าหมูและผลิตภัณฑ์หมู ต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยง และการกำจัดของเสีย เพื่อมิให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมาและในขณะนี้ ราคาหมูตกต่ำค่อนข้างมาก ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนการผลิตสูงถึง กก.ละ 60-61 บาท แต่ขายได้ กก.ละ 43-45 บาท ขาดทุนจากการขายหมูเป็นถึงตัวละ 1,500 บาท ซึ่งไม่เคยตกต่ำถึงขนาดนี้
“ราคาหมูที่ตกต่ำในขณะนี้ มาจากหลายสาเหตุ ทั้งกำลังการผลิตล้น หมูเป็นออกสู่ตลาดทั่วประเทศถึงวันละ 45,000-50,000 ตัว การมีเทศกาลกินเจในช่วงที่ผ่านมา กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะในชนบท ขณะที่เขียงหมูยังขายหมูเนื้อแดงที่ กก.ละ 130-140 บาท มีกำไรสูงถึงตัวละ 2,000-3,000 บาท ควรลดราคาขายลงมาไม่เกิน กก.ละ 120 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ราคาหมูเป็นราคาตกต่ำ สมาคมจะใช้วิธีชำแหละเนื้อขายเอง กก.ละ 90 บาท เพื่อตัดวงจรหมูที่ล้นให้เข้าสู่สมดุลโดยเร็ว ในสัปดาห์นี้ตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะหารือกับบริษัทผู้เลี้ยงรายใหญ่ 4-5 ราย จากทั้งหมดประมาณ 20 ราย ว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาหมูตกต่ำกันอย่างไรบ้าง ถ้ามีข้อสรุปที่เป็นไปได้ จะได้ร่วมดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป” นายนิพัฒน์กล่าว
ทางด้านนายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มหลังเทศกาลกินเจเริ่มดีขึ้นบ้าง พ่อค้าคนกลางที่มาซื้อหมูเป็นหน้าฟาร์มจะให้ราคา กก.ละ 52-54 บาท และปริมาณซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 25 ตัว/ครั้ง/ฟาร์ม จากเดิม 20 ตัว/ครั้ง/ฟาร์ม ในระยะใกล้นี้คาดว่าราคายังไม่ดีขึ้นไปกว่านี้ เนื่องจากกำลังซื้อลดไปมากจากสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดราคาตกต่ำ อาทิ ชาวสวนยางถ้าราคายางดีจะมาซื้อหมูตุนครั้งละ 4-5 กก.ขึ้นไป แต่ขณะนี้เหลือเพียง 1-2 กก.เท่านั้น ดังนั้น ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ สหกรณ์จะประชุมสมาชิกเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาหมูระยะสั้นและระยะกลางกันต่อไป
สถานการณ์หมูปีนี้ไม่ดี ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตหมูครบวงจรรายใหญ่ขยายการเลี้ยงด้วยการเพิ่มแม่พันธุ์หมูจาก
ปี 2558-2559 ที่มีประมาณ 9 แสนแม่ เป็นไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านแม่พันธุ์ในปีนี้ ทำให้ผลผลิตหมูขุนเพิ่มเป็น 20 ล้านตัวเศษ จากปกติที่ควรจะมีไม่เกิน 17 ล้านตัว ใกล้เคียงกับการบริโภคภายในประเทศ กอปรกับการส่งออกหมูเป็นไป สปป.ลาว กัมพูชา และจีน ปี 2559 อยู่ที่ 1.6 ล้านตัว แต่ปี 2560 ตัวเลขการเคลื่อนย้ายหมูของกรมปศุสัตว์มีการส่งออกไปเพียง 2 แสนตัวเศษเท่านั้น ปริมาณการส่งออกแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพราะหากราคาหมูเป็นส่งออกเกิน กก.ละ 50 บาท สปป.ลาว กัมพูชา และจีน จะหันไปซื้อจากเวียดนามแทนมากขึ้น ซึ่งปีนี้ราคาหมูเป็นเวียดนามตกต่ำมาตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่อยู่ในระดับ กก.ละ 30 กว่าบาท และช่วงนี้ขยับมาเป็น กก.ละ 40 บาท จากปกติที่เวียดนามจะมีต้นทุนการเลี้ยงหมูที่ 49-50 กว่าบาท/กก.
“ในวันที่ 9 พ.ย.ศกนี้ จะหารือกับสมาชิกเพื่อแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำ ซึ่งอาจจะใช้แนวทางนำหมูมาชำแหละขาย เอาเครื่องใน ไส้ออกก่อนแล้วขาย กก.ละ 90 บาทเหมือนปี 2550 ที่สหกรณ์เคยทำมาแล้ว ซึ่งช่วงนั้นราคาหมูเป็นตกต่ำเหลือ กก.ละ 28 บาท สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิกมาในราคา กก.ละ 30 บาท แล้วชำแหละขาย 3 กก.ในราคา 100 บาท ชำแหละไปทั้งหมด 1.6 หมื่นตัวนาน 3 เดือน ราคาหมูจึงกระเตื้องขึ้น จากการตัดวงจรหมูที่ล้นในระยะสั้นออกไป ในครั้งนี้อาจจะเริ่มจับหมูที่มีน้ำหนักเกินตัวละ 110 กก. มาชำแหละก่อนก็ได้ ขณะเดียวกัน จะมีการหารือกับบริษัทที่เพิ่มแม่พันธุ์เข้าสู่ระบบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ขึ้นมามาก ให้ปลดแม่พันธุ์จากที่เคยท้อง 8 ครั้งแล้วคัดขาย ให้ปลดที่ 6 ครั้ง หรือ 6 ท้อง เพื่อไม่ให้ซัพพลายล้นหนัก หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ ให้บริษัท เก็บน้ำเชื้อแช่แข็งของพ่อพันธุ์ไว้ก่อน อย่าเพิ่งนำมาผสมแม่พันธุ์ เพื่อลดปริมาณหมูขุนลง” นายเสน่ห์ กล่าว
ที่มา: ประชาชาติ