องค์กรสิทธิเห็นค้านไทยตัดสินประหารชีวิตนักโทษ ชี้เป็นวิธิการที่ล้าหลัง-น่าอับอาย ชี้”บิ๊กตู่”ถูกซัก-กดดันหนักแน่ในการเยือนฝรั่งเศสสิ้นเดือนนี้ วอนรัฐบาลเปลี่ยนแนวคิดจัดการนักโทษ
กรณี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.00–18.00 น. วันที่ 18 มิ.ย. กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ โดยการฉีดยา
เหตุเกิดที่จังหวัดตรัง นักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค.55 ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษายืนเป็นผลให้คดีถึงที่สุด
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทย ที่พักการประหารชีวิตในทางปฎิบัติครั้งนี้ หลังมีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ส.ค.2552 ทั้งที่เหลือเวลาเพียง 14 เดือนที่ประเทศไทย จะได้รับกายอมรับว่าได้พักการประหารชีวิตในทางปฎิบัติติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ทำให้พลาดโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับการประกาศว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฎิบัติ
ทั้งนี้การยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นเจตจำนงที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด และพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ทั้งยังสวนทางกับคำประกาศของรัฐบาลไทยที่กำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ อันจะมีผลทำให้คำมั่นสัญญาและสัจวาจาที่รัฐบาล ค.ส.ช. ให้ไว้กับประชาชนและนานาชาติขาดความน่าเชื่อถือ
การประหารชีวิตในครั้งนี้ หลังพักการประหารชีวิตมาเกือบ 10 ปี ทำให้ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ โดยประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกกฎหมายที่ให้มีโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทไปหลายปีแล้ว
ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ประเทศไทยยังล้าหลังในระดับสากล กล่าวคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต ในขณะที่ 141 ประเทศในโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ
โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปทุกประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตและมีการรณรงค์อย่างกว้างขวางในการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศอื่นทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักรที่มีเป็นสำนักงานใหญ่ของการเคลื่อนไหวขององค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่กรุงลอนดอน หรือการรณรงค์ของรัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่มีการสนับสนุนการรณรงค์การต่อต้านโทษประหารชีวิตผ่านสถานทูตทั่วโลกเป็นต้น
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่กรมราชทัณฑ์กล่าวอ้างว่าสหรัฐอเมริกาและจีนยังเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิต เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ด้วยเหตุผลเป็นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
เนื่องด้วยการลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิตที่ไทยดำเนินมาเกือบ 9 ปีก็เป็นการแยกบุคคลที่กระทำความผิดออกมาเพื่อปกป้องสังคมและให้พลเมืองพ้นจากการเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตลอดจนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้นอยู่แล้ว การเดินทางไปสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศสในระหว่างวันที่ 20-25 มิ.ย.นี้ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย
อาจต้องไปตอบคำถามถึงการตัดสินใจประหารชีวิตผู้ต้องโทษอายุ 26 ปีนี้และอาจเป็นเงื่อนไขให้การร่วมมือในกิจการต่างๆ ถูกกดดันจากทั้งตัวแทนรัฐบาลและภาคประชาสังคมของทั้งสองประเทศ
“ขอให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวคิดว่าการประหารชีวิตจะเป็นการปกป้องสังคม เพราะการประหารชีวิตแม้กระทำโดยรัฐ ก็เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยการทารุณโหดร้ายและละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับทีกระทำโดยอาชญากรเช่นกัน การประหารชีวิตไม่มีผลในการยุติการก่ออาชญากรรม ในทางตรงกันข้ามกลับอีกทั้งสร้างวงจรความเกลียดชังและความรุนแรงในสังคมอย่างไม่จบสิ้น” นายสุรพงษ์ กล่าว
ที่มา: