“เชิด ขันตี ณ พล”
“พระครูรัตนสราภิวัฒน์” หรือ “หลวงปู่ทองสุข สัญญโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระแก้ว และอดีตเจ้าคณะตำบลโพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนา
เกิดในสกุล ตางา เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2477 ณ บ้านเหล่าน้อย ต.เหล่าน้อย อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ลาออกจากการเรียน ช่วยงานครอบครัวทำมาหากิน
จนกระทั่งเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่อายุย่าง 31 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดจันทรังษี ต.เหล่าน้อย อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีพระครูวิเศษเสลคุณ วัดศรีทองนพคุณ อ.เสลภูมิ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการอ้วน ฐิติญาโณ วัดท่าลาด อ.เสลภูมิ เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และพระอธิการประภา ปภากโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้วท่านไปจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดบ้านเหล่าน้อย มุมานะศึกษาพระธรรมวินัย ด้วยความขยันขันแข็งสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ จากสำนักเรียนวัดเหนือคณะจังหวัดร้อยเอ็ด
ต่อมาครอบครัวของท่านได้อพยพมาที่ตำบลหนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ท่านจึงต้อง เดินทางมาอยู่จำพรรษาที่วัดสระแก้ว บ้านดอนน้อย ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย ท่านจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ ที่วัดแห่งนี้ตราบจนวาระสุดท้าย
ในปี พ.ศ.2520 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะตำบลหนองบัว และเมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระแก้ว ว่างลงท่านจึงได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
พ.ศ.2526 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลโพนงาม อ.โกสุมพิสัย พ.ศ.2527 เป็นพระอุปัชฌาย์
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีในราชทินนามที่ พระครูรัตนสราภิวัฒน์ พ.ศ.2548 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นเอกในราชทินนามเดิม
เป็นผู้สนใจศึกษาวิทยาคมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นฆราวาส เมื่อท่านเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ทำให้ท่านมีชื่อเสียงในฐานะพระเกจิชื่อดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่อย่างรวดเร็ว
หากปีใดงานในหน้าที่ไม่มีความยุ่งยาก ท่านมักจะออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน บางครั้งเคยเดินเข้าไปในเขตประเทศ สปป.ลาว เนื่องจากท่านเป็นผู้ชมชอบธรรมชาติป่าไม้และเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามรอยพระตถาคต
ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลโพนงาม ท่านจะปฏิบัติหน้าที่ปกครองอย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างให้วัดในปกครองปฏิบัติตาม รวมทั้งออกเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
ท่านอบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชนตลอดปี และให้ความสำคัญการศึกษาพระปริยัติธรรม เนื่องจากการบวชเรียนเป็นทางเลือกหนึ่งของคนยากคนจนที่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนชั้นสูงขึ้น
หลวงปู่รับหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรม หากพระภิกษุ-สามเณรรูปใดตั้งใจศึกษาเล่าเรียนท่านจะมีทุนการศึกษาให้พร้อมกับสนับสนุนให้เรียนสูงยิ่งขึ้น แต่หากรูปใดไม่สนใจการเรียนท่านก็ใช้หลักเมตตาคอยแนะนำสั่งสอนค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้สำนักเรียนวัดสระแก้ว มีชื่อเสียง แต่ละปีมีพระภิกษุสามเณรเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก
สำหรับหลักธรรมคำสอนที่หลวงปู่พร่ำสอนญาติโยมมาโดยตลอด เป็นเรื่องของการรักษาศีล 5 และดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ถึงแม้การเกิด แก่ เจ็บ ตาย สัตว์โลกไม่สามารถหลีกพ้นได้ แต่การไม่ประมาทสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข
ล่วงเข้าปัจฉิมวัยด้วยความไม่เที่ยงของสังขารท่านอาพาธเรื้อรังด้วยโรคมะเร็งในท่อน้ำดี แต่ท่านยังฝืนรับงานนิมนต์อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย บางครั้งอาการกำเริบหนักท่านยังฝืนสังขารไปตามกิจนิมนต์ที่รับไว้
สุดท้าย มรณภาพอย่างสงบ เมื่อปี 2551 สิริอายุ 73 ปี พรรษา 42
แม้ท่านจะละสังขารไปจากโลกนี้แล้ว แต่คุณงามความดีของหลวงปู่ทองสุข ยัง อยู่ในความทรงจำของพุทธศาสนิกชนไปตลอดกาล
รายละเอียดข้อมูลจาก