นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากรณีนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสาน เครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ กล่าวในงานเสวนา “มองการณ์ไกลประเทศไทย ทิศทางเกษตรยั่งยืน” ว่าจากนโยบายของไทยแลนด์ 4.0 ภาคการเกษตรของไทยปัจจุบันยังไม่สามารถก้าวพ้นจากยุค 2.0 ได้ เนื่องจากเกษตรกรไทยติดปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีของภาคแรงงาน พร้อมระบุหลังปี 2540 ไทยมีนโยบายแยก 2 ทาง คือ 1.นโยบายประชานิยม เน้นสร้างความนิยมไม่ได้มุ่งสู่การยกระดับคุณภาพภาคการเกษตร เห็นเด่นชัดในยุคของนายทักษิณฯ อดีตนายกฯ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาล คสช.ยังคงเลือกนโยบายแบบนี้อยู่ และ 2.นโยบายแบบเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นการก้าวสู่ 4.0 จึงเปรียบเหมือนกับการหวังผลสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้ และไม่ใช่ทางออกของภาคเกษตรไทย
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า จากการที่เกษตรกรของประเทศส่วนใหญ่เป็นรายย่อยและมีระดับการพัฒนาที่หลากหลาย ทำให้การพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรต้องอาศัยการกำหนดนโยบายและแผนที่สอดคล้องกับลักษณะของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ จึงได้กำหนดแนวทางรองรับการพัฒนาเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม โดยเกษตรกรขนาดกลางและขนาดใหญ่มีความก้าวหน้าในการทำการเกษตร จึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่เกษตร 4.0 ได้
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผลการศึกษาของสถาบันการศึกษาหลายสถาบันเห็นพ้องต้องกันว่าเกษตรรายย่อยซึ่งมีจำนวนมาก ยังไม่สามารถก้าวข้ามเกษตร 2.0 ไปได้ จึงจำเป็นต้องมีแนวทางและนโยบายในการพัฒนาเฉพาะ เช่น การสนับสนุนการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาของเกษตรกรรายย่อย และมีการดูแลตามสถานการณ์ เช่น อุทกภัยและภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร การดำเนินการดังกล่าวอาจมีลักษณะคล้ายกับการดำเนินนโยบายประชานิยม แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรของไทยให้ดีขึ้น
แนวคิดเกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีที่มาจากพื้นที่ทางการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้วางรากฐานการทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในภาคการเกษตรควบคู่กับการใช้ศาสตร์พระราชามาเป็นภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร ทั้งนี้ตัวอย่างของการนำวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตลอด Supply Chain ได้แก่ โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมารวมกลุ่มรวมพื้นที่กันทำการเกษตรภายใต้การบริหารจัดการปัจจัยการผลิต การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกล และการวางแผนการผลิตร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โครงการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยการทำ Zoning จากแผนที่ Agi-map ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน อาทิ GAP และเกษตรอินทรีย์ และโครงการจัดตั้งศูนย์เกษตรอัจฉริยะ ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากญี่ปุ่นในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่จากมาใช้ในการทำการเกษตรในประเทศไทยโดยจะทดลองใช้กับพืชสำคัญก่อน คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมกันนี้ กษ ยังได้ส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่ไปกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ด้วยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงให้เกษตรกรจากสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : วีระเดช คชเสนีย์
ผู้เรียบเรียง : วีระเดช คชเสนีย์
แหล่งที่มา : สำนักข่าว