เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์สงกรานต์ ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวจำนวนมาก เพื่อไปเฉลิมฉลองสงกรานต์ และเป็นช่วงเวลาที่มักจะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด ต้องเพิ่มความระมัดระวัง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ระบุว่าสาเหตุหลักจากดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ ขับขี่ด้วยความเร็ว ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง รวมถึงมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ก่อให้เกิดอันตราย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยสงกรานต์ปี 2561ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุจำนวน 3,724 ครั้ง บาดเจ็บ 3,897 คน เสียชีวิต 418 คน จากตัวเลขที่ปรากฏสะท้อนถึงความรุนแรง ความสูญเสียที่มาจากพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ ขาดความระมัดระวังส่งผลกระทั้งสังคมและเศรษฐกิจ
ในช่วงสงกรานต์นี้ จึงมีข้อแนะนำเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย คือ ห้ามดื่มแล้วขับรถ ลดความเร็วในการขับขี่ เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถช่วงกลางคืน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ร่วมใช้เส้นทางที่เมาแล้วขับ การเล่นน้ำสงกรานต์ ก็ควรเล่นน้ำตามวิถีไทย ไม่รุนแรง ไม่โป๊ ไม่เปลือย คนขับรถห้ามดื่มสุราอย่างเด็ดขาด ผู้โดยสารและคนเล่นน้ำห้ามยื่นสุราให้คนขับรถ เพราะเท่ากับยื่นความตายให้ตัวเองให้ผู้อื่น กรณีขับขี่รถจักรยานยนต์ต้อง “ดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว สวมหมวกนิรภัย”
ทั้งนี้ อัตราโทษ คือ เมาแล้วขับ โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000-20,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ พักใบอนุญาต 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต เมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ พักใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต เมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ เพิกถอนใบอนุญาต
สำหรับกฎหมายสำหรับคนนั่งโดยสาร ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. ๒๕๕๕ ห้ามผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถหรือ บนรถ คำว่า “ทาง” และ “รถ” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า “ทาง” และ “รถ” ตามกฎหมาย ว่าด้วยการจราจรทางบก
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สามารถแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้ 1.คนขับเมา มาคนเดียว – คนขับผิดข้อหาเมาแล้วขับ 2.คนขับเมา ให้คนเมาโดยสาร – คนขับผิดข้อหาเมาแล้วขับ คนโดยสารผิดข้อหาไม่ตักเตือนคนขับ 3. คนขับเมา ให้คนไม่เมาโดยสาร – คนขับผิดข้อหาเมาแล้วขับ คนโดยสารผิดข้อหาไม่ตักเตือนคนขับ 4. คนไม่เมาขับ ให้คนเมาโดยสาร – ไม่ผิด 5. คนไม่เมาขับ คนโดยสารกินเหล้าในรถ – คนโดยสารผิดข้อหากินเหล้าในรถ โดยมีบทลงโทษทางกฎหมาย
“ผู้โดยสารก็ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในรถด้วย ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
อย่างไรก็ตาม เดินทางช่วงสงกรานต์ ขอให้เตรียมร่างกายตนเองให้พร้อม ตรวจสอบรถให้พร้อมใช้งาน ศึกษาเส้นทางจะช่วยลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน ที่สำคัญฝากถึงทุกครอบครัวต้องดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ดี อย่าให้ชีวิตต้องตกอยู่ให้ความลำบากเพียงเพราะความสนุก ฉลองแต่พอประมาณ เล่นน้ำอย่างปลอดภัย ไม่ออกไปนอกบ้านให้ชีวิตมีความเสี่ยง “ดื่มไม่ขับ ไปกลับปลอดภัย” ขอให้ทุกชีวิต ทุกครอบครัวมีความสุข ตลอดเทศกาลปีใหม่ไทย
ข่าวจาก: ข่าวสด
Tags: สงกรานต์