ธ.ก.ส.ออกให้บริการเกษตรกรลูกค้า ลงทะเบียนยืนยันแจ้งความประสงค์ร่วมโครงการขยายเวลา
ชำระหนี้ต้นเงินกู้ 3 ปี ปรับตารางชำระหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ตามความสมัครใจ และลดดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินกู้ 300,000 บาทแรก เหลือร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี คาดเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.81 ล้านราย พร้อมเร่งบูรณการเสริมความรู้ ฟื้นฟูอาชีพ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างอาชีพเสริม และการเพิ่มช่องทางด้านการตลาด ควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออม เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรภายใน 3 ปี
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า
ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐแก่เกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นภาระหนักให้สามารถกลับมาฟื้นฟูตนเองทั้งการประกอบอาชีพและการสร้างรายได้ โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.81 ล้านราย ประกอบด้วย
1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกร สำหรับต้นเงินกู้ 300,000 บาทแรก ลดลงในอัตราร้อยละ
3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ สามารถฟื้นฟูตนเองรวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือนและออมเงินมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรไปแล้ว 3.81 ล้านราย เป็นเกษตรกรทั่วไป 2.43 ล้านราย และเป็นเกษตรกรที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.38 ล้านราย
2) โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เงินกู้ที่เป็นภาระหนัก เพื่อผ่อนคลายภาระหนี้สิน แบ่งเบาปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในครัวเรือน โดยขยายระยะเวลาชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ตามความสมัครใจ สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ชำระตามกำหนดเดิม หรือตามที่มาแห่งรายได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เว้นในกรณีเป็นภาระหนักให้ขยายเวลาชำระดอกเบี้ยหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นราย ๆ ไป ซึ่งขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรไปแล้ว 715,114 ราย วงเงิน 205,521 ล้านบาท
นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรลูกค้า พนักงาน ธ.ก.ส.จะนัดหมายและออกไปพบเกษตรกรลูกค้าเพื่อประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการและสอบถามความสมัครใจ ณ จุดนัดหมายต่างๆ ที่เกษตรกรสะดวกเช่นเดียวกับวันนี้ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์บึงบอระเพ็ด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยเกษตรกรสามารถแจ้งความประสงค์และลงชื่อในแบบแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561
จึงขอเชิญให้พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับการนัดหมายมาประชุมและแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระหนี้ แต่ยังคงได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปสนับสนุนฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้สามารถแข่งขันมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านโครงการต่าง ๆ
เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน โครงการสินเชื่อชุมชนเพื่อการปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย (XYZ) อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือน โครงการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นต้น โดยธ.ก.ส.จัดสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นฟูรวม 250,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กรณีเกษตรกรที่มีความสามารถชำระหนี้ได้และมีความประสงค์ชำระหนี้ครบถ้วนตามกำหนดทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจะสามารถขอสินเชื่อใหม่ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีในปีแรกและปีต่อไปคิดในอัตราปกติ วงเงินให้สินเชื่อรวม 100,000 ล้านบาท
นอกจากนั้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและลดภาระหนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรลูกค้ารักษาวินัยการเงินการคลัง ธ.ก.ส.จะคืนดอกเบี้ยให้กับลูกค้าที่ส่งชำระคืนในอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระกับโครงการชำระดีมีคืน ซึ่งข้อมูล ณ 31 สิงหาคม 2561 คืนดอกเบี้ยให้กับลูกค้าไปแล้ว 1.639 ล้านราย เป็นเงิน 2,462.59 ล้านบาท
นายอภิรมย์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการสร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องการออม เพื่อให้เกษตรกรก้าวพ้นปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน โดย ธ.ก.ส.จะส่งเสริมให้เกษตรกรนำรายได้ส่วนเหลือจากค่าใช้จ่าย มาเก็บออมเงินอย่างต่อเนื่องกับผลิตภัณฑ์เงินฝากต่างๆ ของ ธ.ก.ส.
ซึ่งได้จัดโปรแกรมมอบสิทธิประโยชน์และรางวัลพิเศษแก่ผู้ออมเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อจูงใจและให้กำลังใจในการออมโดยสมัครใจ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชคที่ฝากสะสมเฉลี่ยทุกๆ 1,000 บาท เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 6 เดือน จะได้สิทธิ์ชิงรางวัลพิเศษเพิ่มจากเดิมอีกปีละ 1 ครั้ง รวมเป็น 3 ครั้ง และผลิตภัณฑ์ “ธกส มอบรัก” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกันแบบคุ้มครองสินเชื่อ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการและโครงการต่างๆ เป็นการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้แบบครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีขวัญและกำลังใจในการพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคและความยากลำบาก โดยหลุดพ้นจากวงจรหนี้ สามารถกลับมาประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงยั่งยืน