รัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยใช้กลไกของคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่ตั้งขึ้น ตาม ม. 44 มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร รายที่จำเป็นเร่งด่วน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ประสบปัญหาด้านการผลิตและปัญหาอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้มาตามลำดับ โดย ธ.ก.ส.จะเข้าไปพบลูกค้าเพื่อหารือแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาแต่ละราย อาทิ การผัดผ่อนเวลาชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น เพื่อแบ่งเบาภาระเกษตรกร ซึ่งจะมีการกำหนดเวลาชำระหนี้ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับรายได้
สำหรับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เป็นสมาชิก กฟก.และเป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมทั้งเป็นหนี้ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ ครม.มีมติให้ความช่วยเหลือไว้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ ไว้ กล่าวคือต้องเป็นหนี้ NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 มีหนี้ต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และมูลเหตุแห่งหนี้ เป็นหนี้ที่เกิดจากความสุจริตจำเป็น กู้เงินเพื่อนำมาใช้ในวัตถุประสงค์การเกษตร สำหรับการช่วยเหลือ กฟก.จะชำระหนี้แทนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ และรับโอนหนี้ดังกล่าวไปเป็นลูกหนี้ของ กฟก. ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กฟก. ได้ชำระหนี้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ไปแล้ว จำนวน 3,318 ราย จำนวนเงิน 825 ล้านบาท ซึ่งการช่วยเหลือตามแนวทางดังกล่าวที่ผ่านมา มีปัญหาอุปสรรค หลายประการ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ กฟก.เฉพาะกิจ ขึ้นเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายที่จำเป็นเร่งด่วน ให้มีความคืบหน้า โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส.เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถชำระหนี้และอยู่ในหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2553 จำนวน 1,150 ราย ทั้งนี้ หนี้ดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนแล้ว การดำเนินการตามมติ ครม. จึงไม่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด สำหรับการช่วยเหลือในครั้งนี้ ธ.ก.ส.จะได้ประสาน กฟก. ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งแล้ว ดำเนินการชำระหนี้แทนเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์งวดแรกจำนวน 716 ราย จำนวนเงินประมาณ 130 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่มีปัญหาเร่งด่วนที่เหลือ จำนวน 434 ราย ที่อยู่ระหว่างดำเนินการคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจ จะได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งอาจจะใช้แนวทาง ตามมติ ครม.วันที่ 7 เมษายน 2553 โดยรัฐจัดสรรงบประมาณ ให้ กฟก. มาชำระหนี้แทนเกษตรกร หรือจะใช้มาตรการแนวทางที่ ธ.ก.ส. มีอยู่ในปัจจุบันก็จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เช่นกัน โดยจะเร่งรัดดำเนินการอย่างรวดเร็วต่อไป
เนื้อหาจาก: ประชาชาติ