แบงก์ จุกอกหนี้เน่าปูดไม่หยุด “กรุงไทย” ยอมรับเอ็นพีแอลจ่อเพิ่มอีก 2 พันล้าน ไตรมาส 4 ลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหญ่ธุรกิจเกษตรไปไม่รอด เร่งเจรจาลูกหนี้ปิดเสี่ยงก่อนลาม คุมเข้มสินเชื่อ กรุงศรีฯจับกลุ่มซัพพลายเชนบริษัทญี่ปุ่น ชี้กลุ่มค้าปลีก-เกษตรเสี่ยง
KTB จ่อบุ๊ก NPL อีก 2 พันล.
นาย ผยง ศรีวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ล่าสุดธนาคารอยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหญ่ 2-3 ราย เป็นธุรกิจการเกษตรที่ผิดนัดชำระหนี้ และตกชั้นไปอยู่ในกลุ่มสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM Loan) หรือ SM รวมมูลค่าหนี้ราว 2,000 ล้านบาท หากลูกหนี้ไม่สามารถเข้าสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจได้ สินเชื่อดังกล่าวก็จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ในที่สุด ซึ่งน่าจะสะท้อนออกมาในไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมยอมรับว่า เอ็นพีแอลของธนาคารมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพยายามรักษาระดับไม่ให้เกิน 4.8% ในสิ้นปี
“เอ็นพีแอลแบงก์ยังมี ทิศทางขึ้นอยู่ แต่ขึ้นในอัตราชะลอลง โดยเอ็นพีแอลกลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ ไม่มีแล้ว มีแต่กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นรายใหญ่ในกลุ่มเกษตร 2-3 ราย ที่มีปัญหาซึ่งเรากำลังพยายามเร่งเจรจา” นายผยงกล่าวและว่า
สำหรับ การปล่อยสินเชื่อในปัจจุบันยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางเซ็กเตอร์ตามการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจ เช่น รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งธนาคารพยายามผลักดันให้สินเชื่อกระจายไปสู่เซ็กเตอร์อื่น ๆ มากขึ้นโดยการใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เข้ามาค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อให้มาก
BAY จับกลุ่มซัพพลายเชนญี่ปุ่น
ด้าน นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2560 ภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอียังทรงตัว แต่เอสเอ็มอีขนาดเล็กยังน่ากังวล เพราะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อผู้บริโภค และหนี้ครัวเรือน ปัจจุบันเอ็นพีแอลของธนาคารในกลุ่มเอสเอ็มอียังทรงตัวที่ 4.2% ใกล้เคียงกับปลายปี 2559 ซึ่งธนาคารจะคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ระดับนี้ จนถึงสิ้นปี โดยคุมตั้งแต่การปล่อยสินเชื่อ และปรับใช้ Early Alerts เพื่อจับสัญญาณลูกค้าที่ชำระหนี้ช้า เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าได้ทันท่วงที
“เอ็นพีแอลของธนาคาร ต่ำกว่าระดับตลาด เพราะยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ธนาคารหันมาขยายในซัพพลายเชนของบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งเอ็นพีแอลแทบจะเป็น 0% โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ของธนาคารอยู่ในธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ภาคการผลิต ทำให้เอ็นพีแอลที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มนี้ ธนาคารต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด” นายสยามกล่าว
ลุ้นเอ็นพีแอล “พีก” ปลายปี
ขณะ ที่นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกเอ็นพีแอลกลุ่มเอสเอ็มอีของธนาคารอยู่ที่ 5.3% ทรงตัวจากปี 2559 และคาดว่าเอ็นพีแอลจะพีกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะส่วนรายเล็กเริ่มเห็นสัญญาณไหลเข้าในเอ็นพีแอลลดลง ซึ่งธนาคารมีการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายเวลาการชำระหนี้ และอื่น ๆ
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าธุรกิจขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เอ็นพีแอลในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีปีนี้จะทรงตัวที่ระดับ 6-7% ขณะเดียวกันก็เห็นสัญญาณการชะลอตัวในบางกลุ่มธุรกิจ เช่น ค้าปลีก ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาจากภาพรวมของเศรษฐกิจ
กลุ่มค้าปลีก-เกษตรเสี่ยงหนีเสีย
นางสาว กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า กลุ่มที่สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ จากที่เอ็นพีแอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคือ กลุ่มเอสเอ็มอี และรายย่อย อาทิ กลุ่มค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจการเกษตรบางประเภทที่อาจตกชั้นเพิ่มเติม หลังเข้าสู่ขบวนการปรับโครงสร้างหนี้แล้วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เอ็นพีแอลของแบงก์ทั้งระบบน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.0% ในไตรมาส 3 จาก 2.9% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
หากดูเอ็นพีแอลในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มเอสเอ็มอีมีสัดส่วนถึง 51.8% หรือ 2.16 แสนล้านบาท จากเอ็นพีแอลทั้งระบบที่ใกล้ 4 แสนล้านบาท
จากข้อมูลของ ธปท.ระบุว่า ตัวเลขเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินรวม สิ้นไตรมาส 2/60 อยู่ 2.95% เพิ่มขึ้นจาก 2.94% ของไตรมาสแรก ขณะที่เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีปรับลดลงอยู่ที่ 4.42% จาก 4.4% และเอ็นพีแอลธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 1.81% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.59% ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) พบว่าอยู่ที่ 2.54% ลดลงจากไตรมาสก่อน 2.61%