สืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ศูนย์ไซโคลตรอนและ เพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้มุ่งมั่นพัฒนางานด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง กับความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยของการผลิตสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA เพื่อใช้ตรวจในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยเครื่องเพทซีที-สแกน เพื่อประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยระยะของโรค การกลับเป็นซ้ำ และการติดตามการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเจาะลึกครอบคลุมด้วยประสิทธิภาพความไว และความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยมี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนิสา โชติพานิช ผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ฝ่ายเวชศาสตร์นิวเคลียร์และเพทซีที พร้อมด้วย นายแพทย์วิสุทธิ์ ล้าเลิศธน แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา หัวหน้างานอายุรกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ให้รายละเอียด ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศูนย์ไซโคลตรอนและ เพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนิสา โชติพานิชผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ฝ่ายเวชศาสตร์นิวเคลียร์และเพทซีที ให้ข้อมูลว่า การผลิตสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA (Gallium-68 Prostate Specific Membrane Antigen) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเครื่องเพทซีที-สแกน ด้วยสารชนิดใหม่ล่าสุดที่ทางศูนย์ฯ สามารถผลิตขึ้นใช้เองได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยระยะของโรค การกลับเป็นซ้ำๆ และการติดตามการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อม ลูกหมากเจาะลึกครอบคลุมด้วยประสิทธิภาพความไว และความ แม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถ วางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
“สำหรับการผลิตสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA เป็นสาร PSMA คือโปรตีน Transmembrane ที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก ซึ่งมีการวิจัยอย่างแพร่หลายว่า มักพบในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อเปรียบเทียบกับโรค ต่อมลูกหมากโต จากผลงานวิจัยทางคลินิกในต่างประเทศได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้เทคโนโลยีเพท-ซีที สแกนด้วยสาร 68Ga-PSMA เมื่อเทียบกับการตรวจวินิจฉัยภาพทั่วไป หรือเมื่อเทียบกับสารเภสัชรังสีตัวอื่นๆ ว่ามีประสิทธิภาพอย่างชัดเจนในการตรวจสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก โดย 68Ga-PSMA มีประสิทธิภาพความไวในการบอกระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ถูกต้องแม่นยำ ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด หรือการฉายแสง ประเมินการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้เพื่อติดตามการรักษา รวมทั้งสามารถใช้กำหนดตำแหน่งในการเจาะชิ้นเนื้อในกลุ่มที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก”
นอกจากนี้ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ยังได้จัด “โครงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีเพท-ซีที สแกน” ในอัตราพิเศษตลอดปี พ.ศ. 2560 เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นพระกุศลแด่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญ พระชนมายุครบ 5 รอบ ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจ วินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงที่คนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึงได้
นายแพทย์วิสุทธิ์ ล้าเลิศธน แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา หัวหน้างานอายุรกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยว่า มะเร็งต่อมลูกหมากในประเทศไทย เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยจะพบในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และหากบุคคลในครอบครัวหรือมีญาติสายตรงมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทายาทก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า ทั้งนี้ ปริมาณฮอร์โมนเพศชายหรือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่สูงขึ้น ก็มีส่วนในการเพิ่มอัตราเร็วของการเจริญของมะเร็งต่อมลูกหมากเช่นกัน
“โดยปกติโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจัดเป็นโรคเงียบ ที่แม้แต่ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่มีสิทธิ์ล่วงรู้ก่อน แต่ก็พอมีข้อสังเกตให้เห็นเบื้องต้นได้เช่นกัน เช่น การถ่ายปัสสาวะกะปริด กะปรอย แสบ หรือเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะไม่พุ่ง ถ่ายปัสสาวะมีเลือดปน และปวดปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ส่วนในรายที่มะเร็งลุกลามออกไปนอกต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลัง ปวดสะโพกหรือต้นขา ปวดไหล่ หรือปวดกระดูกบริเวณอื่น น้ำหนักลด อ่อนเพลียไม่มีแรง และอาจมีอาการอื่นๆ แล้วแต่ว่ามะเร็งได้ลุกลามไปที่ใด
อย่างไรก็ตาม ในโรคบางโรค เช่น โรคต่อมลูกหมากโต โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจมีอาการในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยด้วยการใช้เทคโนโลยีเพท-ซีที สแกน จึงมีประโยชน์ในแง่ของผู้ป่วยกลุ่มที่สงสัยโรคมะเร็งต่อม ลูกหมาก และสามารถดูการแพร่กระจายของโรค เนื่องจากมีความไวในการบอกระยะของโรค ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถวางแผนการรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น”