“บิ๊กตู่” โอดกลางสภาฯ รบ.จำเป็นต้องกู้ 1ล้านล้าน เงินไม่พอหมุนกู้วิกฤต วางกรอบ คลัง แจงแผนใช้จ่ายต่อสภาฯ ภายใน 60 วันหลังสิ้นปีงบประมาณ
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. เวลา 11.20 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฏร เมื่อเข้าสู่การพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า เนื่องจากปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิดไปทั่วโลก ยังไม่มียารักษา และวัคซีนป้องกัน ไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ต้องมีการปิดสถานประกอบการ สนามบิน ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว มีผลต่อการจ้างงาน ประเมินว่า การระบาดจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 ทำให้รายได้ประเทศลดลง 928,000 ล้านบาท อาจมีคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึงล้านคน จีดีพีไทยจะติดลบ 5.0-6.0 แม้รัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทางในการบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งการจัดสรรงบรายจ่ายปี 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น การจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี2563 แต่แหล่งเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องหยุดยั้งการแพร่ระบาดโรค และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ การดำเนินการดังกล่าวรัฐบาลประมาณการว่า ต้องใช้เงินเร่งด่วนประมาณ 1ล้านล้านบาท ที่ไม่อาจดำเนินการโดยงบประมาณปกติได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉิน และเป็นทางเลือกสุดท้ายรัฐบาลในการตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ในวงเงินไม่เกิน 1ล้านล้านบาท เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การตราพ.ร.ก.ดังกล่าว รัฐบาลตระหนักถึงข้อห่วงใยต่อประเด็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า และความโปร่งใสการใช้จ่ายเงินกู้ จึงกำหนดกรอบวินัยการกู้เงิน โดยกำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2563 การกู้เงินตามพ.ร.ก.ฉบับนี้นำไปใช้จ่ายใน 3 แผนงานหลัก ได้แก่
1.โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท
2.โครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยให้ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19 วงเงิน 555,000 ล้านบาท
3.โครงการพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการก่อนเสนอครม.อนุมัติ โดยกำหนดให้กระทรวง การคลังจัดทำรายงานผลการกู้เงินเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณด้วย รายงานดังกล่าว จะครอบคลุมถึงรายละเอียดการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์ประโยชน์ที่ได้รับ
“การตราพ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะส่งผลกระทบต่อสถานะหนี้ของประเทศ แต่เพื่อให้สภาและประชาชนมั่นใจการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล ขอเรียนว่า การกู้เงินของรัฐบาล 1 ล้านล้านบาทเมื่อรวมกับการกู้เงินกรณีอื่นๆแล้ว จะไม่กระทบต่อกรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สิ้นเดือนกันยายน 2564 จะมีสัดส่วนร้อยละ 59.96 ซึ่งไม่เกินกรอบร้อยละ 60″พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการกู้เงิน จะพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันจะพิจารณาเงื่อนไข และต้นทุนการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศอีกทางเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง หากสภาพคล่องในประเทศไม่เพียงพอ เพื่อไม่เป็นการแย่งเงินทุนกับภาคเอกชนที่จำเป็นต้องระดมเงินจากตลาดการเงินในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่การชำระหนี้นั้น กระทรวงการคลังวางแผนการชำระหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อกระจายความเสี่ยง และดูแลต้นทุนการกู้เงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การชำระหนี้ภายใต้พ.ร.ก.ยังอยู่ในระดับที่รัฐบาลบริหารจัดการได้ ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญในการกำหนดกระบวนการกลั่นกรองโครงการผ่านกลไกคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ จะต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ อยู่ภายใต้แผนงานและโครงการที่กำหนดตามบัญชีท้ายพ.ร.ก.เท่านั้น ต้องกลั่นกรองความคุ้มค่าโครงการ ไม่ช้ำซ้อนกับเงินงบประมาณ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาฯจะอนุมัติพ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจประเทศต่อไป”
ข้อมูลข่าวจาก มติชน